เสฏฐวุฒิ อุดาการ
หากมีคนถามว่าใครคือ Composer คนโปรดของเรา
หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ Joe Hisaishi
อันที่จริงต้องสารภาพว่าเรารู้จัก Joe Hisaishi ก่อนหน้าที่จะรู้จัก Hayao Miyazaki แห่ง Studio Ghibli เสียอีก
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไปได้ไฟล์อัลบั้มเก่า ๆ ของ Hisaishi มาจากพี่ชาย พอได้ฟังดูก็ชอบมาก เป็นการฟัง Soundtrack แบบไม่ทราบบริบทมาก่อน
ยิ่งพอได้มาฟังในอนิเมะของ Studio Ghibli แล้วก็ยิ่งชอบไปใหญ่จนตั้งปณิธานว่าวันหนึ่งจะต้องไปดูคอนเสิร์ตของ Joe Hisaishi ให้ได้
เมื่อไม่นานมานี้ Composer วัย 69 ปี (2020) ผู้นี้เพิ่งออกอัลบั้มใหม่ที่รวบรวมผลงานเด่นแทบจะทั้งชีวิตของเขาไว้รวมกัน
นั่นคืออัลบั้ม ‘Dream Songs The Essential Joe Hisaishi’ ที่เราจะมารีวิวในวันนี้นั่นเอง
หากเปรียบ Dream Songs เป็นรวมเรื่องสั้น ก็กล่าวได้ว่านี่เป็น ‘รวมเรื่องเอก’ โดยแท้
เพราะในอัลบั้มที่มีจำนวน 28 เพลงนี้ แทบไม่มีเพลงไหนเลยที่ไม่คุ้นหูแฟนอนิเมะของ Miyazaki หรือแฟนหนังของ Beat Kitano
กิตติศัพท์ที่ว่า Joe Hisaishi คือ John Williams แห่งญี่ปุ่นก็ไม่ได้เกินความจริงไปเลยแม้แต่นิดเดียว
Dream Songs โหมโรงเพลงแรกด้วยหนึ่งในงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Joe Hisaishi อย่าง ‘One Summer’s Day’ จากอนิเมะออสการ์ Spirited Away (2001)
ที่สำคัญที่สุดคือเป็นเวอร์ชั่นที่ร่วมบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าระดับแมมมอธอย่าง London Symphony Orchestra (LSO) อีกด้วย
แม้ว่าพระเอกของเพลงจะเป็นเปียโนที่ Hisaishi เป็นผู้บรรเลงเอง แต่ต้องบอกว่า LSO ได้สร้างมิติให้กับเพลงนี้ราวกับพาเราย้อนกลับไปยังโลกวิญญาณของ Haku และ Chihiro ใน Spirited Away อีกครั้ง สมกับเป็นเพลงเปิดของอัลบั้มที่รวมผลงานเด่นทั้งชีวิตของ Joe Hisaishi ไว้อย่างสมศักดิ์ศรี
ลิงก์ผู้สนับสนุน
เพลงต่อมาที่ชอบมากคือ Kiki’s Delivery Service จากอนิเมะชื่อเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนตัวเราชอบอนิเมะที่มีธีมเกี่ยวกับการข้ามพ้นช่วงวัย (Coming-of-age) เรื่องนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งได้มาฟังเวอร์ชั่น LSO ที่ได้นักไวโอลินมือพระกาฬมาเล่นให้ ยิ่งรู้สึกภูมิใจแทน Joe Hisaishi ที่พาดนตรีสัญชาติญี่ปุ่นไปได้ไกลระดับโลก
เพลงถัดมายังคงร่วมบรรเลงด้วย LSO คราวนี้ Joe Hisaishi มาเราแวะเข้ามาในโลกของ Takeshi Kitano กันบ้าง สำหรับเพลง ‘Summer’ จากหนัง ‘Kikujiro’ (1999) อันเป็นเพลงดังของ Joe Hisaishi อีกเพลงหนึ่งที่มีจังหวะสนุกแบบสดใส ชวนรำลึกถึงวัยเยาว์แสนหวาน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วหนังเรื่องนี้พูดถึงการตามหาสิ่งที่สูญหายไปในชีวิต และการรับมือกับความจริงของโลกอันโหดร้าย เป็นอีกหนึ่งงานระดับ Chef D’oeuvre ของ Joe Hisaishi
เพลงที่ 4 ของอัลบั้มเป็นเพลงโปรดของเราตลอดกาลอันกรุ่นไปด้วยกลิ่นอาย Jazz นั่นคือเพลงธีมหลักของหมูแดงบินได้ ‘Il Porco Rosso’ จากอนิเมะชื่อเดียวกันนั่นเอง โดยเวอร์ชั่นนี้เป็นบันทึกการบรรเลงสดกับวง New Japan Philharmonic World Dream Orchestra ก่อนที่จะตามด้วย ‘Madness’ เป็นเพลงที่ 5 ซึ่งเชื่อมโยงกัน โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยชอบการนำเพลงที่มีจังหวะเร้าใจอย่าง Madness ที่ใช้ในซีนเครื่องบินไล่ยิงกันแบบยุทธการกลางเวหา (Dogfight) มาต่อเพลงที่ให้อารมณ์หวานสักเท่าไหร่ เพราะปรับอารมณ์ไม่ทัน เหมือนนั่งจิบไวน์ดูสาวสวยนั่งบรรเลงเปียโนในคลับอยู่ดี ๆ แล้วจู่ ๆ ก็มีวงร็อคมารับช่วงต่อยังไงยังงั้น
เพลงที่ 6 คือ Water Traveler จากหนังเก่าเรื่อง Samurai Kids (1993) ให้อารมณ์อลังการ มี Fanfare แบบวีรบุรุษ ฉายให้เห็นพลังของ Joe Hisaishi ในวัยหนุ่มได้ดี ส่วนตัวเราอยากดูหนังเรื่องนี้มาก แต่ยังหาแหล่งดูไม่ได้เลย เคยอ่านพล็อตแล้วน่าสนใจดี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับซามูไรตัวจิ๋วที่หลุดออกมาผจญภัยในโลกปัจจุบัน กำกับโดย Nobuhiko Ôbayashi หนึ่งผู้กำกับระดับตำนานของญี่ปุ่น
เพลงต่อมาคือ Oriental Wind ที่โดดเด่นด้วยเสียงเปียโนแสนหวาน ก่อนที่จะตามด้วยเครื่องสายและเครื่อง Brass อลังการของ LSO ไม่แน่ใจว่าเพลงนี้ใช้ประกอบหนังเรื่องไหน แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าจะแต่งขึ้นเพื่อประกอบโฆษณาหรือรายการโทรทัศน์ของทางญี่ปุ่น นี่เป็นเพลงที่ให้กลิ่นอายความงดงามแบบเอเชียขนานแท้ ลองฟังเพลงนี้แล้วนึกภาพฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่นจะเข้าใจอารมณ์เพลงได้เป็นอย่างดี
เพลงที่ 8 คือ Silent Love ประกอบหนังเรื่อง A Scene At Sea ของ Kitano เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่เราอยากดู เพราะเห็นมีคนชอบนำคลิปของหนังไปใส่เพลงใน YouTube บ่อย ๆ โดยเฉพาะ Channel ของ Yotsu ที่เรารู้จักหนังญี่ปุ่นเจ๋ง ๆ ก็จากที่นี่แหละ
ตัดมาที่เพลงที่ 9 ซึ่งเป็นเพลงโปรดของ Joe Hisaishi ที่ติด Top 5 ในใจเราอย่าง ‘Departure’ จากหนังชื่อเดียวกันที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศในปี 2008 นับเป็นหนังญี่ปุ่นในดวงใจเราตลอดกาลที่บอกเล่าธีมเกี่ยวกับความตายได้อย่างงดงามและทรงพลัง ตัว Track มีความยาวกว่า 8 นาที รวมทุกธีมที่โดดเด่นจากหนังไว้อย่างครบครัน เพลงนี้โดดเด่นที่ Cello เครื่องดนตรีคู่ใจของตัวเอกที่ LSO ก็เล่นได้อย่างบีบคั้นความรู้สึกและจับใจ
เพลงที่ 10, 11 และ 12 เป็น Track ปิดท้ายภาค 1 ของอัลบั้ม Dream Songs ที่ Joe Hisaishi มาเรากลับมาในโลกของ Studio Ghibli อีกครั้ง ได้แก่ Princess Mononoke, The Tale of Princess Kaguya หรือเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ และอนิเมะที่โด่งดังที่สุดของ Hayao Miyazaki อย่าง My Neighborhood Totoro
Princess Mononoke ในอัลบั้มนี้เป็นเวอร์ชั่น Live จากคอนเสิร์ต ขณะที่ Tale of Princess Kaguya เวอร์ชั่นนี้ใช้เครื่องดนตรีญี่ปุ่นประกอบ แต่เสียดายที่ไม่ได้ใช้เพลงธีมหลักของอนิเมะเรื่องนี้ซึ่งเราว่ามันอ่อนหวานมาก ๆ ส่วน Totoro นั้นก็เป็นเพลงธีมหลักของอนิเมะเรื่องนี้ เวอร์ชั่นนี้คล้าย ๆ กับเวอร์ชั่นที่เล่นในคอนเสิร์ตครบรอบ 25 ปีของ Studio Ghibli ซึ่งใครที่สนใจสามารถหาดูได้ เพราะมีคนใจดีเอาลง YouTube ทั้งคอนเสิร์ตเลย
หลังจากจบภาคที่ 1 ของอัลบั้มแล้ว Joe Hisaishi ก็เปิดภาคที่ 2 ด้วยหนังของ Kitano 2 เรื่องติดกัน คือเพลงที่ 13 และ 14 จากเรื่อง Brother และ Kids Return ซึ่งเรื่องแรกให้อารมณ์มาเฟียชัดเจน ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กเสเพลสองคนที่ย้อนกลับไปสำรวจวัยเยาว์ของตนเอง Track นี้จึงโดดเด่นที่เครื่องสายเป็นอย่างมาก ให้อารมณ์สับสน เลือดร้อน และเปี่ยมไปด้วยพลังของเด็กหนุ่ม แต่ก็ยังมีเสียงบรรเลงเปียโนที่เป็นลายเซ็นของ Joe Hisaishi รวมอยู่ด้วย
เพลงถัดมาคือ Asian Dream Song ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่ออัลบั้ม เพลงนี้ให้อารมณ์คล้าย ๆ กับเพลง Oriental Wind นั่นคือให้ความรู้สึกถึงความงดงาม อ่อนช้อย และสุภาพของวัฒนธรรมเอเชีย หรือหากกล่าให้ถูกคือแบบญี่ปุ่น เป็นเอเชียในโลกทัศน์แบบญี่ปุ่น นับว่าเป็นหนึ่งในงานประพันธ์ของ Joe Hisaishi ที่เขาได้แสดงอัจฉริยภาพด้านดนตรีออกมาอย่างสุดฝีมือ
เพลงที่ 16 คือ Birthday ซึ่งเป็นอีกเพลงที่เราชอบเสียงบรรเลงเปียโนที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังของ Hisaisi เช่นเดียวกับเพลงที่ 17 Innocent เพลงธีมของ Sheeta ตัวเอกจาก Laputa Castle in the Sky ซึ่งน่าจะเป็นอนิเมะของ Ghibli ที่เราชอบมากที่สุด โดยเฉพาะคอนเซปเกี่ยวกับการผสานตำนาน ไซไฟ และธรรมชาติเข้าด้วยกัน
ซึ่งหากกล่าวถึงประเด็นธรรมชาติในอนิเมะของ Hayao Miyazaki แล้ว ย่อมพลาดอนิเมะเรื่องแรกของเขาอย่าง Nausicaa ไปไม่ได้ เพราะนี่จัดได้ว่าเป็นอนิเมะที่วิจารณ์การทำลายธรรมชาติของมนุษย์อย่างจริงจังเรื่องแรก ๆ โดยเพลงที่ 18 ก็คือ Valley of the Wind หรือเพลงธีมหลักของ Nausicaa นั่นเอง
เพลงถัดมาพาเรากลับไปยังโลกของ Kitano กันบ้างอย่าง Hana-Bi จากหนังเรื่องเดียวกันที่เราเพิ่งรีวิวไปในบทความชื่อ ‘Hana-Bi (1997) ดอกไม้ไฟแห่งความหวัง’ ซึ่งเพลงประกอบของ Joe Hisaishi มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนห้วงอารมณ์ของตัวละครในหนังที่มีบทสนทนาน้อยมากเรื่องนี้
เพลงที่ 19 – 23 เป็น Track ที่เคยรวมอยู่ในอัลบั้ม Piano Stories ที่ออกมาทั้งหมด 5 อัลบั้ม ได้แก่ The Wind Forest, Angel Springs, Nostalgia, Spring และ The Wind of Life ซึ่งทั้งหมดเป็นเพลงที่ Joe Hisaishi เป็นผู้บรรเลงเอง ก่อนที่ในเพลงที่ 24 จะเป็นที่ของเพลงปิดท้ายอนิเมะเรื่อง Princess Mononoke และเป็น Love Theme ที่เราชอบมากที่สุดในบรรดาอนิเมะของ Ghibli อย่าง Ashitaka and San นั่นเอง
3 เพลงสุดท้ายมาแนวเดียวกันก็คือเป็นเพลงที่เน้นความสนุก อ่อนหวาน เหมือนโลกแห่งวัยเยาว์ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความฝันที่ไม่มีอะไรมาทำลายลงได้ ซึ่งนี่ก็คือคอนเซฟที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเพลงประกอบในอนิเมะของ Hayao Miyazaki ตลอดมา
เพลงที่ 25 คือ เพลงธีมจาก Ponyo on the Cliff By the Sea ซึ่งจริง ๆ แล้วเราชอบอีกเพลงหนึ่งมากกว่าคือ Deep Sea Ranch & Mother Of The Sea ที่ชวนให้นึกถึง Symphony of the Sea ของ Ralph Vaughan-Williams มาก ๆ โดยเฉพาะเวอร์ชั่นที่เล่นในคอนเสิร์ต 25 ปี Studio Ghibli ฟังแล้วคิดถึงลมทะเล
ถัดมาเพลงก่อนปิดท้ายคือ Cinema Nostalgia ซึ่งส่วนตัวแล้วเป็นเพลงที่เราชอบมากอีกเพลงหนึ่ง และเป็นเพลงที่มีกลิ่นอายของตะวันตกมากที่สุดเพลงหนึ่งของ Joe Hisaishi ฟังไปฟังมาทำให้นึกถึงงานของ Ennio Morricone อยู่เหมือนกัน แต่ไม่ชัดขนาดนั้น
มาถึงเพลงสุดท้าย Joe Hisaishi เลือกที่จะจบอัลบั้มที่เป็นรวมผลงานชั่วชีวิตของเขาด้วย ‘ม้าหมุน’ หรือ Merry-go-round จากอนิเมะ Howl’s Moving Castle นั่นเอง เพลงนี้นับว่าเป็นอีกเพลงหนึ่งของ Hisaishi ที่ดังมาก แต่ส่วนตัวแล้วเราชอบเพลง Promise of the World จากอนิเมะเรื่องนี้มากกว่า รวมถึงเสียง Trumpet ในฉากอุโมงค์ช่วงท้ายนั้นไพเราะจับใจแบบไม่รู้ลืม ถือว่า Howl’s Moving Castle เป็นอนิเมะที่เพลงเพราะตั้งแต่ฉากแรกจนฉากสุดท้าย แบบที่ฟังแต่เพลงกับภาพอย่างเดียว ไม่มีเสียงพูดก็ยังงดงามตราตรึง
สรุป
อัลบั้ม Dream Songs Essential Joe Hisaishi แม้ว่าจะติดป้ายว่าเป็นการรวมเพลงเด่นชั่วชีวิตของ Joe Hisaishi ไว้ก็จริง แต่ก็ยังขาดหลายเพลงที่ส่วนตัวคิดว่าค่อนข้างโชว์อัจฉริยภาพด้านดนตรีของเขาไว้ได้มากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น Fragile Dream, The Rain, Time of Cherries, The Sixth Station, Promise of the World, Let the Bullet Fly หรือ Futari (Two of Us) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเหตุผลด้านการตลาดที่ต้องการนำเพลงฮิตติดหูมารวมกันไว้ กระนั้น ก็ยังนับว่าเป็นอัลบั้มที่แฟนเพลงของ Hisaishi ต้องมีไว้สะสม และเป็นอัลบั้มฟังง่ายที่ใครที่ไม่เคยติดตามผลงานของ Joe Hisaishi มาก่อนจะได้ทำความรู้จักกับหนึ่งในนักประพันธ์ดนตรีประกอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นผู้นี้