US หลอน ลวง เรา (2019) – เดินเข้าถ้ำ ชะโงกดูเงา

US (2019) – เดินเข้าถ้ำ ชะโงกดูเงา เสฏฐวุฒิ อุดาการ The Pursuit of Pappyness
Editorial use only. No book cover usage. Mandatory Credit: Photo by C Barius/Universal/ILM/Kobal/REX/Shutterstock (10162635w) Lupita Nyong’o as Red ‘Us’ Film – 2019 A family’s serenity turns to chaos when a group of doppelgängers begins to terrorize them.
เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน

เขาเดินผ่านร่างที่สั่นเทาของภริยาตรงไปยังหน้าต่าง เพ่งมองออกไปในความมืด ในแสงสลัวไม่เห็นสิ่งใดชัดเจนนัก แต่ก็พอเห็นเค้าลางของร่างเงาทั้งสี่ที่ยืนจับมือกันอยู่บนถนนหน้าบ้านของเขาเอง

US (2019) เป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่เราใช้พลังไปกับการเพ่งสมาธิในแต่ละฉากมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แม้ตัวภาพยนตร์จะมีความยาวเพียงแค่ 90 นาที แต่ความอุดมไปด้วยสัญญะ Reference และนัยยะทางการเมือง
ก็ทำให้หลังออกจากโรงภาพยนตร์ เราต้องหาที่นั่งพักดื่มน้ำเพื่อปล่อยให้ความคิดตกตะกอนเลยทีเดียว

US เป็นผลงานการกำกับเรื่องที่สองของ Jordan Peele จาก Get Out (2017) ซึ่งวิพากษ์การเมืองเรื่องสีผิวในอเมริกาได้อย่างเพลิดเพลินและชวนขนหัวลุกในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขณะที่ Get Out นำเสนอประเด็นความขัดแย้งทางอัตลักษณ์และการแบ่งแยกสีผิวด้วยน้ำเสียงเสียดเย้ยและตลกร้าย US กลับทำหน้าที่เป็นกระต่ายขาวที่ใช้ความน่ารักชักนำเราเข้าสู่ความพิศวงงงงวยของโครงเรื่อง ดุจเขาวงกตที่รายล้อมไปด้วยกระจกเงา ทำให้ยากที่จะแยกความจริงและความลวงออกจากกัน ที่สำคัญคือ US เปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความสารและสัญญะที่ได้รับการจัดวางในแต่ละฉากอย่างอิสระตามแต่ประสบการณ์และโลกทัศน์ของแต่ละคน ไม่มีผิดไม่มีถูก และนั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานศิลปะที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์หรือบทสนทนากับผู้ชม และหนัง/วรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

แม้หลายคนจะตีความ US ในเชิงบทวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงกับการเมืองสหรัฐฯ ในยุค Ronald Reagan ที่พยายามสร้างวาทกรรมความสามัคคีเพื่อกดทับหรือกลบเกลื่อนความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคม แต่เรากลับมองย้อนกลับไปไกลถึงนิทานคลาสสิคเรื่องถ้ำของเพลโตซึ่งเขียนไว้ในงานเล่มสำคัญของเขาอย่าง ‘The Republic’ สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับนิทานเรื่องดังกล่าว เพลโตเล่าถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกจองจำอยู่ภายในถ้ำ โดยถูกพันธนาการไว้ให้หันหน้ามองผนังถ้ำที่ปรากฎรูปเงาที่วูบไหวมาจากคบไฟที่ตั้งอยู่ด้านหลัง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ถูกจองจำอยู่ภายในถ้ำตั้งแต่เกิด สิ่งเดียวที่พวกเขารู้จักก็คือรูปเงาที่ปรากฎเป็นรูปร่างต่างๆ ดังที่ผู้คุมปรารถนาจะให้พวกเขาเห็น รูปเงาเหล่านั้นจึงกลายเป็นความจริงหนึ่งเดียว กระทั่งมีหนึ่งในนั้นสามารถหลุดพ้นจากพันธนาการและหาทางออกไปนอกถ้ำได้ เขาจึงรู้ว่าสิ่งที่เชื่อมาทั้งชีวิตเป็นเพียงแค่เรื่องเล่ารูปแบบหนึ่งเท่านั้น เขาจึงพยายามกลับไปเล่าให้เพื่อนที่ถูกจองจำในถ้ำฟังว่าความจริงภายนอกถ้ำเป็นอย่างไร แต่เพื่อนกลับไม่เชื่อสิ่งที่เขาพูด และลงท้ายด้วยการสังหารเขาผู้นั้นซึ่งกลายเป็นคนนอกเสีย

นิทานเรื่องถ้ำของเพลโตสามารถเชื่อมโยงเข้ากับจุดพลิกผันของตัวละครหลักใน US ได้เป็นอย่างดี นอกเฉพาะในตอนท้ายเรื่องที่ปมทุกอย่างถูกเปิดเผยออกมา เมื่อ Adelaide/Red ซึ่งต่างเก็บงำไว้ซึ่งความจริงแต่ละชุดที่แตกต่างกัน ต้องต่อสู้กันเพื่อสถาปนาเรื่องเล่าที่ตนเองเชื่อถือให้กลายเป็นความจริง และในท้ายที่สุดก็มีความจริงเพียงชุดเดียวเท่านั้นที่เหลืออยู่ ท้ายที่จริงแล้ว การเดินทางเข้า-ออกถ้ำหรืออุโมงค์แห่งเงาที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นภายนอกหรือในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างที่เราเข้าใจกัน เพราะเมื่อเราคิดว่าเราสามารถตะเกียกตะกายออกจากถ้ำๆ หนึ่งได้แล้ว เราอาจจะเผลอหลุดเข้าไปในถ้ำอีกแห่งหนึ่งโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้เราต้องชะโงกดูเงาตัวเองว่าแท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงแค่เงาหรือตัวตนที่แท้จริงของเราที่หล่นหายไปกันแน่.