เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน
Nature is orderly. That which appears to be chaotic in nature is only a more complex kind of order.” – Gary Snyder
เมาคลีกำลังวิ่ง ไม่สิ หมาป่าตัวหนึ่งกำลังโผนกระโจนไปในดงทึบของพงไพรไร้นาม
นั่นคือฉากเปิดเรื่องของ The Jungle Book ฉบับปี 2016
นับตั้งแต่ Cinderella ฉบับคนแสดงเมื่อปีที่แล้ว ดิสนีย์ก็ทะยอยหยิบยกบรรดานิยายที่เคยทำเป็นแอนิเมชั่นเมื่อหลายทศวรรษหวนคืนสู่จอเงินอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Beauty and the Beast และ The Little Mermaid ฉบับคนแสดงซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งหากคำนึงถึงเทคโนโลยีด้าน Computer-generated imaginery หรือ ‘CGI’ ในปัจจุบันของดิสนีย์ (ซึ่งเป็นเจ้าของ Marvel และ LucasArt) ก็ไม่ต้องสงสัยว่าการกลับมาของเงือกสาวแอเรียล และแบลล์ซึ่งรับบทโดย Emma Watson จะต้องทำเงินมหาศาลอย่างแน่นอน
คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่เพียงข้อเดียว นั่นคือ ดิสนีย์จะตีความตัวละครและบริบทของเนื้อเรื่องอย่างไรให้ผสานเข้ากับยุคสมัยได้อย่างกลมกลืน ไม่ประดักประเดิก และไม่ฝืนความรู้สึกคนดูจนรู้สึกถึงความซ้ำซากจำเจ
นั่นคือข้อสงสัยก่อนที่ผมจะดู The Jungle Book
และนี่คือสิ่งที่หนังเรื่องดังกล่าวบอกกับผม
But this is my Home
องค์แรกของ The Jungle Book ไม่ได้แนะนำให้เรารู้จักเจ้าเด็กน้อยในกางเกงสีแดงอย่างทันทีทันใด ไม่จำเป็นต้องมีแฟลชแบ็คเล่าให้เห็นต้นกำเนิดให้เสียเวลา แต่หนังกลับพยายามชี้ให้ผู้ชมเห็นถึงความเป็นอื่น (otherness) ของเมาคลีท่ามกลางฝูงหมาป่าภายใต้การนำของ Akera (อาคีราในภาษาฮินดี = โดดเดี่ยว, ลำพัง)
อาคีรา-จ่าฝูงหมาป่าอินเดียแห่งซีออนีปกครองด้วยกฎของหมาป่าซึ่งเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญที่หมาป่าในฝูงทุกตัวต้องท่องจำให้ขึ้นใจได้ตั้งแต่ยังเล็ก แม้กระทั่งเมาคลีซึ่งอาศัยและเติบโตมาไม่ต่างจากหมาป่าตนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในหนังนำเสนอกฎป่าที่ Rudyard Kipling รจนาไว้เพียงแค่สองท่อนแรกเท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะกฎเต็มๆ นั้นค่อนข้างยาว และมีเนื้อหาที่สลับซับซ้อนที่ยากเกินกว่าเด็กจะเข้าใจ แม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็ต้องอาศัยการตีความ
“Now this is the law of the jungle, as old and as true as the sky,
And the wolf that shall keep it may prosper, but the wolf that shall break it must die.
As the creeper that girdles the tree trunk, the law runneth forward and back;
For the strength of the pack is the wolf, and the strength of the wolf is the pack……….”
สาระใจความของกฎป่าภายใต้การตีความของหมาป่าก็คือ การรวมกันเราอยู่ แยกอยู่เราตาย หมาป่าต้องให้ความสำคัญกับการรวมฝูง (wolf pack) เป็นความสามัคคีร่วมมือกันในสภาวะธรรมชาติที่ดำเนินไปตามกลไกของห่วงโซ่อาหาร สมาชิกต้องเชื่อฟังคำสั่งของจ่าฝูงอย่างเคร่งครัดเพื่อความอยู่รอดของฝูง ซึ่งดูเหมือนว่านอกจากหมาป่าแล้ว สัตว์ตัวอื่นๆ ที่อยู่ร่วมอาณาเขตเดียวกันกับอาคีร่าก็ให้ความเคารพยำเกรงในกฎของฝูงหมาป่าเช่นเดียวกันกับตัวผู้นำซึ่งให้ความสำคัญกับ ‘กฎเหนือความรู้สึก’ ลักษณะของนักปกครองเช่นนี้เองที่ทำให้ Akera พยายามสอนและเลี้ยงดูเมาคลีไม่ต่างจากหมาป่าตัวหนึ่ง เพราะเขาเชื่อว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันกับฝูงเท่านั้นที่จะช่วยให้เมาคลีสามารถเอาตัวรอดได้สภาวะอนาธิปไตยของป่าได้
แต่อาคีร่าคิดผิด
การมาเยือนของภัยแล้งนำมาสู่ช่วงเวลา ‘สงบศึก’ ระหว่างปวงสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าสัตว์กินเนื้อหรือกินพืช เพราะทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากที่สุดอย่าง ‘น้ำ’ นั้นตกอยู่ในภาวะขาดแคลน หากเหล่าสัตว์ไม่เคารพกฎที่ถูกออกแบบมาเพื่อแบ่งปันและธำรงรักษาความมั่นคงของผืนป่าไว้ ก่อสงครามแย่งยื้อจับจองแหล่งน้ำกันดังเช่นมนุษย์ย่อมก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าการยอมสงบศึกในช่วงเวลาสั้นๆ แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่สมมติขึ้นมาในจินตนาการของผู้เขียน The Jungle Book ทั้งสองเล่มอย่าง Sir Rudyard Kipling เจ้าของเดียวกับ ‘White Men’s Burden’ ที่ให้แรงบันดาลใจแก่ลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษ (ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความ)
ช่วงเวลาสงบศึก (water truce) เมื่อ ‘หินสันติภาพ’ (peace rock) ผุดขึ้นมาจากผิวน้ำอันเป็นสัญญาณของความแห้งแล้งเป็นภาพแทนของการอยู่ร่วมกันในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน (interdependence) ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การจัดการทรัพยากรจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจตามแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนัก Neo-Liberalism ของ Joseph Nye และ Robert Keohane นี่เองที่เป็นการตีความ ‘ระเบียบและกฎป่า’ ใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแห่งสันติภาพก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อพญาเสือเบงกอลนาม ‘แชร์คาน’ ปรากฏกายขึ้นท่ามกลางความตะลึงงึงงันของสิงสาราสัตว์ที่มารวมตัวกันในช่วง ‘Water truce’ การมาเยือนของแชร์คานพร้อมกับคำข่มขู่ต่อเมาคลีส่งผลต่อสถานภาพเดิม (status quo) ของป่าซีออนี ที่สำคัญ แชร์คานได้พยายามขับเน้นสภาวะ ‘ความเป็นอื่น’ ของเมาคลีท่ามกลางสัตว์ป่าให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า แชร์คานได้พูดในสิ่งที่สัตว์นอกฝูงหมาป่าไม่กล้าพูด เพราะเกรงใจอาคีร่านั่นเอง
แน่นอนว่าความเกลียดชัง ‘เมาคลี’ และมนุษย์ของพญาเสือเบงกอลที่ลูกเสือสามัญและสำรองทุกคนรู้จักตนนี้ย่อมมีที่มาที่ไป อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างแชร์คานและอาคีร่าทั้งในด้านโลกทัศน์ และศาสตร์ของการปกครองก็ขับเน้นให้เห็นถึงความหลากหลายทางบุคลิกและลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละเผ่าพันธุ์ ไม่ต่างจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในมนุษย์ที่ไม่ควรถูกครอบงำไว้ด้วยอุดมการณ์ชุดใดชุดหนึ่งโดยไม่มีทางเลือกอื่น
กระนั้น ในสภาวะธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ช่วงเวลาที่ทุกชีวิตในป่าซูอานีต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้นกว่าเดิม ลักษณะความเป็นผู้นำสองแบบ สองสไตล์ของอาคีราและแชร์คานก็ยิ่งมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ฝ่ายหนึ่งมีลักษณะประนีประนอม ปกครองภายใต้หลักนิติธรรม (rule by law) คือกฎประจำฝูงซึ่งในที่นี้คือกฎของหมาป่า ในขณะที่อีกฝ่าย เนื่องจากพานพบประสบการณ์ที่เลวร้ายและมีบาดแผลบอบช้ำจากสงครามกับมนุษย์มามากกว่าสัตว์ตัวอื่นๆ (เพราะส่วนใหญ่สัตว์อื่นๆ มักสู้มนุษย์ไม่ได้จึงไม่รอด ขณะที่เสือกลับต่อกรได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ) แชร์คานจึงเป็นตัวแทนที่เหมาะสมของผู้นำแบบ Realist ที่จำเป็นต้องชิงจู่โจมก่อน (pre-emptive) เพื่อมิให้ตนเองตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในกรณีที่เมาคลีโตขึ้นเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่เต็มตัว และรู้จักการใช้ ‘ดอกไม้สีเพลิง’ (red flower) ได้อย่างช่ำชอง อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของแชร์คานคือการไม่สามารถใช้วาทศิลป์โน้มน้าวจูงใจสัตว์ป่าตัวอื่นๆ ให้ก่อการกบฏต่ออาคีร่าด้วยเหตุผลของเมาคลีได้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันอย่างมากจากสมาชิกฝูงหมาป่าที่ต้องการให้เมาคลีออกไปจากฝูง และอยู่ในที่ๆ ควรของเขา นั่นคือหมู่บ้านของมนุษย์
Bear Necessities
เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในหมู่หมาป่าที่เกิดขึ้น บากีร่าจึงอาสาพาเมาคลีเดินทางไปส่งยังหมู่บ้านมนุษย์ซึ่งสภาหมาป่าเห็นพ้องต้องกันว่านั่นคือบ้านที่แท้จริงของเมาคลีซึ่งถึงแม้ว่าจะถูกเลี้ยงดูมาในฐานะ ‘ลูกหมาป่า’ แต่ถึงอย่างไรก็มีลักษณะทางกายภาพของมนุษย์นั่นคือการสามารยืนบนสองเท้า และสมรรถภาพในการคิดและจินตนาการอันเปรียบเสมือนสมบัติอันสุดแสนวิเศษที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะมีได้ ซึ่งนั่นย่อมเป็นภัยคุกคามต่อเหล่าสัตว์หากวันหนึ่งที่เมาคลีเติบใหญ่ขึ้น ธรรมชาติระหว่างคนกับสัตว์ที่แปลกต่างกันอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้
การออกจากฝูงของเมาคลีจึงเป็นทางเลือกที่มีความชอบธรรมอย่างมากที่สุด
แน่นอนว่าการมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านมนุษย์ของเมาคลีย่อมมิอาจดำเนินไปอย่างราบรื่น มิฉะนั้น หนังเรื่องนี้คงจบลงตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแล้ว และเมาคลีลูกหมาป่าก็คงกลายสภาพเป็นเมาคลีคนตัดฟืนหรือเมาคลีพรานล่าสัตว์เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ ในละแวกนั้น เคราะห์ดีของผู้ชม แต่เคราะห์ร้ายของเมาคลีที่ระหว่างการเดินทางนั้น เขาและอากีล่าถูกจู่โจมโดยแชร์คานซึ่งคอยดักรอกำจัดและแก้แค้นเด็กน้อยคนนี้อยู่ก่อนแล้ว ความแค้นของแชร์คานสามารถอธิบายได้ด้วยดวงตาข้างที่มืดบอดของเขา ซึ่งอาจตีความได้ว่าพ่อของเมาคลีได้ทำให้แชร์คานสูญเสียความเป็นตัวตนของเสือที่สง่างามและยิ่งใหญ่ไป ความเคียดแค้นของมันจึงมืดบอดเหมือนกับดวงตาข้างที่ถูกดวงไฟทำร้ายข้างนั้น แม้เมาคลีจะหนีรอดไปได้ แต่เพลิงโทสาของแชร์คานก็ทำให้เขาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากฝูงหมาป่าด้วยการสังหารจ่าฝูงอย่างอากีร่าโดยไม่ทันตั้งตัว ความตายของอากีร่าผู้ทรงภูมิธรรม คือ ต้นกำเนิดของยุคสมัยภายใต้การปกครองของทรราชอย่างแชร์คานที่เอาชีวิตลูกน้อยของฝูงหมาป่าเป็นตัวประกัน
ระหว่างหนีการไล่ล่าของเสือพิโรธ โชคชะตาก็ดลบันดาลให้เมาคลีมาปะเข้ากับ ‘บาลู’ หมีขี้เซาที่มีสไตล์การใช้ชีวิตแบบชิวๆ พออยู่พอกิน ไม่ต้องคิดอะไรให้มากมาย ไม่มีกฎในการอยู่ร่วมกันหรือออกแบบการปกครองอะไรมาให้หนักสมอง บาลูสนใจเพียงแค่น้ำผึ้งซึ่งเปรียบเสมือนเป้าหมายเดียวในชีวิตของเขา น่าขันที่สไตล์การใช้ชีวิตของบาลูที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์อะไรกับช่วยยืดชีวิตของเขาให้ยาวนานได้มากกว่าอากีร่าซึ่งเป็นผู้นำที่เพียบพร้อมไปด้วยปัญญาและศาสตร์แห่งการปกครองเสียอีก
สีสันของบาลูนี่เองที่ทำให้เรามองเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ (และชาติพันธุ์) ที่ดำรงอยู่เสมอในธรรมชาติ แน่นอนว่ากระบวนการก่อร่างสร้างรัฐที่มีกลไกของการรวมกลุ่ม (include) ชนชาติใดหนึ่งเข้ามา และกีดกัน (exclude) ชนกลุ่มน้อยออกไปเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างความมั่นคงดำรงอยู่ของรัฐในช่วงแรก แต่การผ่อนคลายหลังจากนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เช่นเดียวกับกฎป่าที่สรรพสิ่งต่างมีความเชื่อมโยงกันด้วยสายใยลึกลับที่มิอาจมองเห็นได้ด้วยตา บ้างก็ว่ามันคือสัญชาตญาณ บ้างก็ว่ามันเป็นความลึกลับของพงไพรที่มนุษย์ผู้ร้างจากผืนป่าและลำธารมานานไม่มีวันเข้าใจ แต่การได้พบกับบาลูนี่เองที่ช่วยให้เมาคลีได้ค้นพบอัตลักษณ์ของตนเอง และยอมรับความเป็นมนุษย์ทางกายภาพของตนเอง แต่แน่นอนว่าในทางสภาพจิตใจและโลกทัศน์ เขาก็ไม่แตกต่างจากบรรดาสัตว์อื่นๆ ในป่าที่ยอมรับวิธีคิดของสัตว์ป่า อาทิ การเคารพสัตว์ใหญ่อย่างช้าง, การให้ความสำคัญกับสัญญาสงบศึกในยามที่ฤดูแล้งมาเยือน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เมาคลียอมรับในศักยภาพของมนุษย์ที่เขามีโดยธรรมชาติ ด้วยความช่วยเหลือของบาลู เมาคลีเริ่มที่จะเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น ด้วยการยอมรับและใช้สมรรถภาพทางปัญญาของตนเองให้เกิดประโยชน์ ดังเช่นการช่วยลูกช้างจากการตกหล่มด้วยสติปัญญาอันชาญฉลาด อันรวมถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้วยเชาว์ปัญญา และการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมเครื่องทุ่นแรง
Bear Necessities ทำให้เมาคลีรู้จักตนเองมากขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ถึงทางสองแพร่งที่เขาต้องเลือกระหว่างการเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมในสังคม หรือเป็นคนป่าที่แปลกแยกท่ามกลางเหล่าสัตว์ที่ไม่ไว้วางใจในตัวเขา
The Red Flower
อุปมาที่น่าสนใจที่สุดใน The Jungle Book เวอร์ชั่นนี้คือการเปรียบเทียบ ‘ไฟ’ อันเป็นนวัตกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสรรสร้างและทำลายของมนุษย์เข้ากับคำที่มีความงดงามอย่าง ‘ดอกไม้สีเพลิง’
ดอกไม้สีเพลิงใน The Jungle Book เป็นผลผลิตจากสมรรถภาพทางปัญญาของมนุษย์ และในขณะเดียวกัน นั่นก็เป็นสัญญะของอำนาจ ผู้ใดที่ครอบครองความสามารถในการสร้างสรรค์มัน ย่อมได้รับสิทธิอำนาจในการปกครอง เป็นจ้าวป่าหรือจ้าวโลกได้ และนั่นคือสิ่งที่วานรดึกดำบรรพ์อย่าง ราชันลูอี่ ปรารถนา
ดอกไม้สีเพลิงคงเปรียบได้กับอะไรมากมาย แต่หากตีความให้เข้ากับการเมืองระหว่างประเทศมากที่สุด ดอกไม้สีเพลิงซึ่งในภาพยนตร์มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ครอบครองศักยภาพและทรัพยากรในการสรรสร้าง คงไม่ต่างอะไรจากระเบิดปรมาณูที่กลายเป็นอาวุธที่เกือบนำโลกเข้าสู่จุดจบอย่างสิ้นเชิงในช่วงสงครามเย็น
ดอกไม้สีเพลิงนำความวุ่นวายมาสู่ระเบียบป่าที่ดำรงอยู่แต่เก่าก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้ามารุกรานของมนุษย์ผู้ครองครองความสามารถในการประดิษฐ์และใช้งานดอกไม้สีเพลิง ไม่ต่างจากมหาอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศที่สามารถใช้นิวเคลียร์ถล่มประเทศใดๆ ก็ได้หากมีเหตุผลที่จำเป็นเพียงพอ แต่การเข้ามาของดอกไม้สีเพลิงนั้นทำให้สัตว์ป่ารู้สึกอ่อนแออย่างชัดเจน เพราะแม้กระทั่งเจ้าป่าผู้องอาจอย่างเสือร้ายแชร์คานก็ยังต้องสูญเสียดวงตาให้กับความร้อนแรงกรีดผิวของมัน และดอกไม้สีเพลิงนี่เองที่ทำให้เมาคลียังคงอยู่รอดในป่าได้แม้จะถูกรายล้อมด้วยสัตว์ป่าแปลกหน้าที่มิได้เติบโตมาพร้อมกับเขาเหมือนฝูงหมาป่า
วานรยักษ์ ราชันลูอี่ต้องการใช้ประโยชน์จากเขา หมีอย่างบาลูแม้จะเป็นดังญาติผู้ใหญ่ที่คอยชี้แนะแนวทางและให้บทเรียนในการดำเนินชีวิตสไตล์หมีๆ แต่ก็ยังต้องการใช้ประโยชน์จากความสามารถของเมาคลีในการเก็บน้ำผึ้ง คงมีก็แต่เสือดำ บากีร่าตนเดียวที่มองโลกด้วยสายตาแบบสัจนิยม แม้ว่าไม่มีความเข้มข้นมากเท่ากับแชร์คานที่สูญเสียความไว้วางใจในมนุษย์ไปตั้งแต่ถูกโจมตี จนกลายเป็นเสือที่เคียดแค้นดังที่ปรากฏในหนัง
บากีร่าเชื่อมั่นว่าหมู่บ้านมนุษย์เท่านั้นที่เมาคลีจะสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ในป่าเขา วิถีทางของเมาคลีแตกต่างจากสัตว์ป่าตัวอื่นๆ เพราะธรรมชาติได้มอบสรีระลักษณะทางกายภาพให้เขามีความแตกต่างจากสัตว์สี่เท้าตัวอื่นๆ หากปล่อยให้เมาคลีเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่ท่ามกลางฝูงสัตว์ หากเมาคลีไม่เป็นภัยต่อพวกเขา บรรดาสัตว์ที่ไม่ไว้วางใจหรืออิจฉาศักยภาพของเมาคลีก็มีโอกาสที่จะทำร้ายเขาจนถึงแก่ชีวิต
ในบรรดาตัวละครทั้งหมด ไม่น่าเชื่อว่า บากีร่า คือตัวละครเดียวที่สามารถรักษาสมดุลของการใช้เหตุผลได้ดีที่สุด โดยไม่มองโลกในแง่ร้ายสุดโต่งแบบแชร์คานหรือโลกสวยแบบบาลูหรือแม่หมาป่า
เพราะผลลัพธ์ที่เกิดจากความเป็นมนุษย์และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเมาคลีก็ทำให้ดอกไม้ไฟได้สำแดงศักยภาพในการทำลายล้างของมันอย่างเต็มที่ในตอนท้าย แม้ว่าเมาคลีจะแก้ตัวด้วยการสังหารแชร์คานด้วยเปลวไฟ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตอกย้ำว่าหากปล่อยให้เมาคลีเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ท่ามกลางฝูงสัตว์ต่อไป ระบบระเบียบที่วางไว้อาจจะสั่นคลอน และเสียสมดุลในที่สุด
เมาคลีบอกกับทุกคนว่าป่าคือบ้านของเขา จะไล่เขาไปอยู่ที่อื่นได้อย่างไร นั่นเป็นความคิดของเด็กคนหนึ่งที่กำลังเติบโต ทว่าวันหนึ่งเมื่อเมาคลีเติบโตขึ้น มีความกระหายและกล้าหาญมากขึ้น เขาจะกลายเป็นนักล่าที่น่าสะพรึงกลัวกว่าแชร์คานหรือทรงอำนาจมากกว่าวานรอ้วนเทอะทะอย่างราชันลูอี่
และนั่นแล คือ กำเนิดของเลอไวทันตัวจริง