เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน
“As terrifying and painful as reality can be, it’s also the only place where you can find true happiness. Because reality is real.” – James Halliday, Ready Player One
Ready Player One นำรถ DeLorean คันเก่าของมาร์ตี้ แมคฟลาย (Back to the Future) มาพาเรากระโจนข้ามเวลาหวนคืนสู่โลกในทศวรรษที่ 80-90s ที่เป็นช่วงชีวิตวัยเยาว์ของหลายคน ซึ่งในปี 2018
เราอาจจะลืมเลือนวันหวานเหล่านั้นไปเสียแล้ว ท่ามกลางนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาอย่างมากมายในแต่
ละวัน แต่นั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชายฉกรรจ์อย่างเราเสียน้ำตาในโรงหนังได้โดยไม่รู้ตัว
เราแปลกใจไม่น้อยที่ผู้กำกับในดวงใจวัย 71 ปี อย่าง Spielberg เลือกที่จะหยิบนิยายไซไฟดิสโธเปียของ Zak Penn และ Ernest Cline มาดัดแปลงเป็นหนัง หลังจากที่ห่างเหินจากการกำกับหนังแนวไซไฟซึ่งสร้างชื่อให้ปู่มาหลายปี นับตั้งแต่เรื่องล่าสุด War of the World (เวอร์ชั่น Tom Cruise วิ่งหนี (วิ่งทุกเรื่อง) เอเลี่ยน) โดยเฉพาะเมื่อแกนกลางของ Ready Player One คือการจับป๊อปคัลเจอร์ในยุค 80 – 90s ซึ่งไม่ค่อยจะแลดู ‘ร่วมสมัย’ เท่าใดนักเมื่อเทียบกับอายุอานามของ Spielberg แต่นั่นหาใช่ปัญหาไม่ เพราะในวัย 71 ปี ผู้กำกับที่ทำให้เราตกหลุมรักในงานของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งแต่ลืมตาดูโลก ได้กลับมาตอกย้ำอีกครั้งว่าสำหรับคนที่โชคดีได้ใช้วัยเยาว์ทันในยุค 80 – 90s นั้น งานของ Spielberg เป็นมากกว่าแค่หนังเรื่องหนึ่งที่ดูแค่ความบันเทิงเพียงชั่วขณะ แต่มันคืองานสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมและส่งต่อแรงบันดาลใจไม่รู้จบให้แก่เด็กๆ ทั่วทุกมุมโลกที่ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ, นักเขียน, นักดาราศาสตร์, นักโบราณคดี, เอ็นจีโอ ,
นักสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งนักการเมือง เฉกเช่นเดียวกับความมุ่งหมายตั้งใจของ James Halliday
ใน Ready Player One
Ready Player One ดำเนินเนื้อเรื่องสลับกันระหว่างโลกความจริงกับโลกเสมือนนาม ‘Oasis’
ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแว่นที่มีลักษณะคล้าย VR ในปัจจุบัน Oasis เป็นผลงานชั่วชีวิตของ James Halliday โปรแกรมเมอร์ที่สร้างโลกเสมือนจริงขนาดมหึมาระดับจักรวาลขึ้นจากรสนิยมส่วนตัว
โดยเฉพาะป๊อปคัลเจอร์ที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเขา จน Oasis มีลักษณะไม่ต่างจาก ‘โลกส่วนตัว’
ที่ Halliday ใช้เพื่อหลีกหนีจากโลกความจริงที่เขารู้สึกแปลกแยกและเดียวดาย เพราะไม่สามารถเชื่อมต่อตนเองเข้ากับสังคมได้อย่างสบายใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความอัดอั้นตันใจของ Halliday จะเป็นความรู้สึกร่วมกันกับผู้คนจำนวนมหาศาลไม่สามารถไปได้ถึง ‘ฝั่งฝัน’ ในชีวิต ไม่ว่าด้วยข้อจำกัดโดยชนชั้น, สถานะทางสังคม, การเงิน, การศึกษา, สุขภาพ ฯลฯ Oasis จึงทำหน้าที่ตรงตามนิยามความหมายว่า ‘ที่ซึ่งปลอดความทุกข์’ และกลายเป็นแดนสุขวาดีหรือแม้กระทั่งนิพพานของคนทั่วโลกที่เข้ามาแสวงหาความสุข และยินดีพร้อมใจที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริงมากกว่าโลกความจริงที่ล่มสลายและเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ Oasis จึงกลายเป็นโลกซึ่งอายุ เพศสภาพ เชื้อชาติ และสถานภาพทางสังคมไม่มีความหมาย เพราะทุกคนสามารถสร้างร่างอวตารของตนเองได้สมดั่งใจหมายโดยใช้ ‘เหรียญ’ ที่เก็บจากการ ‘เล่นเกมในเกม’ แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่พวกเขาไม่มีวันได้รับในชีวิตจริง มองในแง่ฮาร์ดคอร์ Oasis จึงไม่ต่างจากเครื่องมือที่ชนชั้นปกครองใช้เพื่อ ‘ล่อลวง’ และ ‘มอมเมา’ ชนชั้นล่างให้เพลิดเพลินอยู่ในโลกวาทกรรมและมายาคติโดยไม่คิดการก่อการปฏิวัติหรือลุกขึ้นมาท้าทายสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระเบียบที่ชนชั้นปกครองรักษา และ
มีประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน เหมือนดั่งประโยคที่ Wade Watts ตัวเอกของเรื่องกล่าวไว้ในต้นเรื่องว่า ‘ทุกคนเลือกที่จะอยู่ใน Oasis เพราะปัญหาสังคมในโลกจริงยากที่จะแก้ไข ทุกคนจึงเลิกที่จะแก้ไขมัน และ
อยู่กับโลกจริงในอย่างที่มันเป็น” ซึ่งประเด็นนี้เราจะขอเขียนถึงในอีกบทความที่ยาวกว่านี้
ความยิ่งใหญ่ของ Oasis ทำให้ Halliday มีสถานะไม่แตกต่างจากพระเจ้าผู้สร้างโลก (ใหม่) ขึ้นมาให้ทดแทนโลกใบเดิมที่เส็งเคร็งและเต็มไปด้วยความจริงที่โหดร้าย พวกเขาจึงบูชา Halliday และแข่งขัน
สุดความสามารถเพื่อค้นหากุญแจสามดอกที่จะนำไปสู่ Easter Eggที่ Halliday ทิ้งไว้เป็นมรดกแก่ผู้ที่สามารถค้นพบ ‘สาส์น’ ที่เขาทิ้งไว้และคู่ควรแก่การรับมอบความเป็นเจ้าของ Oasis ต่อไป แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างโลกหรือความจริงเสมือน (Virtual Reality) ได้รับการถ่ายทอดผ่านศิลปะหลายแขนงมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 80 – 90s ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ Easter Eggs ที่ได้รับการหยิบใส่มาในหนังเท่านั้น แต่ Ready Player One จึงดำเนินเนื้อเรื่องตามรอยขนบของหนังในยุคนั้นอย่างตรงไปตรงมา
เป็นความเชยที่สุดแสนคลาสสิค และเป็นความซ้ำซากที่เราสุดแสนคิดถึง นอกจากนั้น Oasis ยังทำให้เรานึกถึงนักปรัชญาการเมือง (และการเดิน) ซึ่งเคยพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับโลกเสมือนและโลกความจริงไว้ได้อย่างน่าสนใจ เขาผู้นั้นมิใช่ใครอื่นนอกจากอิมมานูเอล ค้านท์ ซึ่งเคยเสนอความสัมพันธ์แนวชิดระหว่างโลกแบบ a priori และ a posteriori (empirical world) กล่าวแบบง่ายๆ คือ ค้านท์ได้เตือนไว้ว่าการตัดสลับไปมาระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนนั้น อาจก่อให้เกิดความบกพร่องของภาวะที่เรียกว่า ‘synthetic of priori judgement’ หรือการ ‘ตีกันมั่วไปหมด’ ของความรู้, ความทรงจำ, ประสบการณ์ และความรู้สึกจนทำให้เราไม่สามารถแยกออกระหว่างความจริงและความเสมือนจริง และนำไปสู่การเกิดมายาคติ (illusion) ที่บดบังเราจากความเป็นจริงในทางกายภาพ และนั่นอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Mal
ในหนังเรื่อง Inception หรือตัวละคนสำคัญตัวหนึ่งที่หลงผิดในตอนท้ายเรื่องของ Ready Player One
การซ้อนทับระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนจริงจึงเป็นประเด็นที่ครอบคลุมหลากหลายสาขา
ทั้งจิตวิทยา, ปรัชญา, วิทยาศาสตร์, การแพทย์, กฎหมาย รัฐศาสตร์ และกำลังจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ในอนาคต เมื่อพิจารณาจากการพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี VR ในปัจจุบัน
Ready Player One ไม่ใช่หนังที่นำเสนอโลกดิสโธเปียที่ต้องการกลุ่มวีรบุรุษ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชายหญิงหน้าตาดี) มากอบกู้เหมือนหนังแนวคล้ายๆ กันในยุคนี้ ทว่าหนังกลับพูดถึงสิ่งที่แตกต่างไปจากนั้น โดยเฉพาะปรัชญาการสร้างสรรค์ศิลปะและนวัตกรรมที่นำเสนอผ่านบทเรียนที่ James Halliday ซ่อนไว้ผ่านภารกิจในการค้นหากุญแจทั้งสามดอกซึ่งเป็น McGuffin ของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกล้าหาญที่จะถอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้นเพื่อ Start it all over again หรือ การฟังเสียงหัวใจตัวเองในการตัดสินใจในช่วง
หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตและเดินหน้าต่อไปไม่ว่าผลลัพธ์ของมันจะเป็นเช่นไร และการเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่แตกต่างจากคนอื่นเพื่อที่จะพบประสบการณ์ที่แปลกใหม่และขุมทรัพย์ของชีวิตที่ซ่อนอยู่รอให้ผู้ที่เชื่อมั่นและกล้าหาญจะเดินบนเส้นทางของตนเองเท่านั้นที่จะค้นพบ ที่สำคัญที่สุด Ready Player One พูดถึงความยิ่งใหญ่ของ Achievement หรืองานสร้างสรรค์ที่คนๆ หนึ่งจะใช้เวลาชั่วชีวิตสร้างมันขึ้นมา บางครั้ง
ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนอื่นใดมากไปกว่าความเข้าใจ ความรับรู้ถึงความพยายามเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น เหมือนประโยคสุดท้ายที่ Halliday บอกแก่ Wade เมื่อเกมจบลงว่า ‘Thank you for playing my game’ นั่นคือสิ่งเดียวที่ผู้สร้างสรรค์คนนี้ต้องการ
กล่าวโดยสรุป Ready Player One จะกลายเป็นหนังในดวงใจที่เราจะหยิบออกจากชั้นมาดูในบ่าย
วันอาทิตย์ต่อไปในอนาคต และอาจเสียน้ำตาให้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้ตัว แม้ตัวหนังจะมีลักษณะที่มีความเฉพาะกลุ่มกับเด็กยุค 80-90s มากๆ แต่การดำเนินเนื้อเรื่องที่รวดเร็ว กราฟฟิกที่ตระการตา ตัวละครที่เรารู้สึกผูกพัน และดนตรีประกอบของ Alan Silvestri ซึ่งมีกลิ่นอายของยุค 80s ชัดเจน (เจ้าของ Theme Back to the Future กับ Predator มาเอง) ทำให้ Ready Player One เป็นหนังที่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่วัย 30 ที่พาลูกเข้าไปทำความรู้จักป๊อปคัลเจอร์ยุค 80 – 90s ซึ่งบางส่วนกำลังจะหายไปจากความรับรู้ของเด็กยุค 2000s และที่สำคัญคืออย่าไปคาดหวังว่ามันจะเป็นหนังที่ดีเด่นระดับออสการ์ เพราะนั่นไม่ใช่
จุดมุ่งหมายของหนังเรื่องนี้ เหมือนดั่งที่ James Halliday กล่าวไว้ทำนองว่า
“เรากลับไปสู่จุดสตาร์ทได้ไหม ให้มันเป็นเพียงแค่เกมที่เราเล่นเพื่อความสนุก”
เมื่อเราเป็นเด็ก เราไม่ได้แบกรับความคาดหวังของตัวเอง, สังคม และโลก
โลกวัยเยาว์ของเราจึงเต็มไปด้วยความสนุก
แท้จริงแล้ว มันเป็นแค่เกม
ชีวิต, มันเป็นเช่นนั้นเอง.