บทความนี้เขียนขึ้นในวันที่ 27 ก.ย. 2551
ปี 2549 ย่ำเช้าหรือกลางดึกของคืนวาน ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้พุ่งเข้าใส่เด็กชายอย่างนุ่มนวล แต่บาดลึก ทันทีภาพทุ่งหญ้าสีเขียวหายไปจากหน้าจอ
เขายังนั่งอยู่ตรงนั้น ในความมืด สีเขียว และสีฟ้ายังวูบไหวในดวงตา
“All about Lily Chou Chou”
ลิลี่ ชู ชู แด่เธอตลอดไป สร้างปรากฏการณ์แก่เด็กชายผู้หนึ่ง เสียงเปียโนกังวานในความว่างเปล่า โน้ตทุกตัวไหลผ่านโต๊ะ เก้าอี้ และเริงเล่นกับสายลมเหนือทุ่งหญ้าสีเขียว
THE GIRL WITH THE FLAXEN HAIR, CLAIR DE LUNE และ ARABESQUE ของ Debussy ไม่ยอมออกไปจากหูของเขา
เวลาผ่านไป 2 ปีต่อมา
สถานที่เดิม แต่ต่างเวลา และความรู้สึก
เด็กหนุ่มได้พบกับใครคนหนึ่งอีกครั้ง คล้ายเพื่อนเก่าที่จากไปนาน ราวความรักที่ผลิขึ้นใหม่บนซากดอกไม้
แต่มิใช่…เพราะสิ่งนั้นสวยงามมากกว่า
สายรุ้ง…ความฝัน เรื่องราว ตัวโน๊ต และฟิล์มโกดัก
สายรุ้ง
การปรากฏตัวของสายรุ้งเสมือนจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่จะจบลงด้วยสายรุ้งอีกครั้งหนึ่ง เจ้าตัวกระหายน้ำหลังฝนนี่ช่างเอาแต่ใจตนเอง ไม่มีใครล่วงรู้ว่าเมื่อใดมันจะปรากฏกายให้เห็น แล้วแต่อารมณ์ของมัน
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และดำเนินไปตามสีสันของสายรุ้ง แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ฟ้าคราม ทั้งหมด 6 สี คือรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ อบอุ่น มิตรภาพ ความในใจ และความรัก
แต่ยังขาดอีกหนึ่งสี…
“เอ้…มันยังมีอีกสีนะ ฉันนึกไม่ออก” โทโมยะกุมขมับ
“สีม่วงไง สีม่วง !” เด็กหญิงตาบอดร้องอย่างดีใจ เสียงหัวเราะของเธอเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้สีม่วงของสายรุ้งร่าเริงขึ้นมาบ้าง
แต่เรื่องราวทั้งหมดก็มาถึงจุดพลิกฝันด้วยสีสุดท้ายของสายรุ้งสีนี้
ความฝัน
หญิงสาวมองโลกผ่านภาพยนตร์ชีวิตของเธอ งานทุกอย่างในกองถ่ายผ่านมือเธอมาแล้วทั้งสิ้น กระทั่งวันหนึ่ง ด้วยกล้องตัวหนึ่ง ความฝันของเธอก็เป็นจริง
ภาพยนตร์เรื่องแรก หรือเรื่องราวสุดท้ายของโลก
แม้วันหนึ่งเธอจะต้องรับหน้าที่ควบทั้งผู้กำกับ และนักแสดงนำหญิง แต่มันก็มิอาจสร้างความสุขให้เธอเช่นเวลาก่อน กล้องตัวเก่า ความฝันชุดเดิม แต่เธอเองสิที่เปลี่ยนไป
เพราะอะไร เพราะอะไร…
ชายคนหนึ่งอยู่รอบตัวเธอ เดินทาง และแอบมองเหมือนนักถ้ำมอง แต่นั่นมันก่อนหน้าที่เธอจะได้รู้จักเขา พูดคุยกับเขา และรู้ถึงความไม่เอาไหนของเขา
แต่ทำไม ทำไม…ความฝันไม่มีผลต่อเธอในเวลาที่มีเขาอยู่ แต่อย่างไรก็ตามถึงเขาจะไม่เคยห่างไกล แต่ก็ยังไม่เคยใกล้กันมากพอ…
บนดาดฟ้าอาคารแห่งหนึ่ง เขาถามเธอถึงเหตุผลที่เลือกเดินทางไปอเมริกา เธอตอบเขาพลางมองไปยังท้องฟ้า
“ถึงอยู่ที่ญี่ปุ่น…ก็ยังไม่ใกล้พอ”
เรื่องราว
การจะเกิดสายรุ้งได้ แน่นอนว่าในอากาศต้องมีความหนาแน่น แต่ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวช่างหนาเกินกว่าที่ใครจะเข้าใจกันได้ คงต้องรอเวลาที่ความชื้นจะเรียกให้สายรุ้งมารับ และทั้งสองจึงจะได้สะพานเจ็ดสีข้ามไปมาหากันได้อย่างอิสระ
แต่วันนั้นไม่มาถึง
หญิงสาวเลือกที่จะโบยบินด้วยความฝัน แต่บางสิ่งบางอย่างก็ไม่มีคำอธิบาย เฉกเช่นเดียวกับที่เราไม่รู้ว่าสายรุ้งจะปรากฏตัวขึ้นเมื่อไหร่ เวลาใด
ร่างของเธอร่วงหล่นลงกลางอากาศ รวดเร็ว และไม่ทันตั้งตัว ความฝันโบกมืออำลาอยู่ในนัยน์ตาของเธอ
แม้แต่สายรุ้งที่มีเจ็ดชั้นก็ไม่อาจรองรับเธอไว้ได้
ตัวโน๊ต
เสียงเพลงคลอระหว่างชีวิต มนุษย์ทุกคนมีเครื่องดนตรี และเพลงประจำตน ไม่ว่าในอารมณ์ใด ความรู้สึกไหน แผ่นเสียงแผ่นนั้นจะเล่นอยู่เสมอ จังหวะสูงต่ำของตัวโน๊ตสัมพันธ์กับคลื่นชีวิต และความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างกัน
ชายหนุ่มมีเพลงของตนเอง แม้เขาจะไม่รู้วิธีการบรรเลง แต่จังหวะ และทำนองนั้นทางเลือกต่าง ๆ ได้กำหนดมัน พฤติกรรม ความรู้สึกได้เปลี่ยนแปลงมัน และความรัก…ที่ควบคุมมันว่าจะบรรเลงต่อไป หรือ หยุด…
หญิงสาวชำนาญในเครื่องดนตรีของตนเอง เธอบรรเลงมันด้วยความรัก แต่ไม่มากไปกว่าสิ่งที่เธอมีให้แก่ชายคนหนึ่ง แม้ภาพยนตร์ของเธอจะไม่ได้ฉายที่โรงหนังใด แต่ภาพที่ปรากฏในใจของเธอ มีเพียงฉากเดียว …ฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนั้น
ฟิล์มโกดัก
หญิงสาวใช้ฟิล์มโกดักในการถ่ายทำหนัง เธอบอกว่าชอบสีสันของมัน แต่เมื่อถึงวันที่ผู้คนได้รับรู้ถึงเหตุผลข้อนี้ของเธอ พวกเขากลับหัวเราะ และชื่นชมในความไม่เหมือนใครของเธอ
เพราะกล้องที่เธอใช้นั้น ไม่สามารถใช้ร่วมกับฟิล์มโกดัก
ทุกอย่างที่ทำมาเหมือนเปล่าค่า…แต่ไม่เลย เธอรู้งานของเธอดี
แม้ว่าฟิล์มโกดักที่เธอเลือกใช้มันจะไม่เคยสนองตอบอย่างที่เธอต้องการ ไม่เคยมองเธออย่างที่เธอมองมัน และไม่เคยใกล้พอ…แม้เธอจะแนบหน้าเข้าหามันในการถ่ายทำ
ฟิล์มโกดักกล่องนั้นไม่เคยรับรู้เลยว่า กล้องพยายามแค่ไหนในการปรับตัวให้สามารถใช้ร่วมกับมันได้จนสำเร็จเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง
มันไม่เคยรู้เลย…
จากทุ่งหญ้าสีเขียว สู่ รุ้งกลับหัว
แม้ชุนจิ อิวาอิ จะไม่ได้นั่งแท่นเป็นผู้กำกับ แต่หน้าที่โปรดิวเซอร์ และโดยเฉพาะการเขียนบททำให้ข้าพเจ้ารู้ได้ทันทีว่านี่แลคือ เขาคนนั้น
ประการแรก คือ มุมกล้อง และการใส่ใจรายละเอียดของฉาก โดยเฉพาะความงามของเมืองญี่ปุ่นในสไตล์ Coming of Age คล้าย ๆ กับใน All about lily chou chou เราจะได้เห็นสนามฟุตบอลโรงเรียน, ฉากเมืองญี่ปุ่นเมื่อมองลงมาจากภูเขา และโดยเฉพาะรุ้งบนท้องฟ้า
ประการที่สอง คือ เสียงบรรเลงคลอตลอดทั้งเรื่อง ไม่แน่ใจว่าหนังญี่ปุ่นใช้เสียงประกอบในลักษณะนี้หรือเปล่า เพราะผมไม่ค่อยได้ดูหนังญี่ปุ่นมากนัก แต่เสียงเพลงนี่แลเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรรักหนังของอิวาอิ
คราวที่แล้วเขาปลุก Debussy ใน All about Lily chou cou แต่ครั้งนี้เขาใช้เพลง IV Jupiter the Bringer of Jollity ของ Gustav Holst ในการเปิดหนังที่ซ้อนหนังอีกทีหนึ่ง
ข้าพเจ้ารู้จักเพลงดังกล่าวมาหลายปีได้สัมผัสถึงความหวานของทำนองก็ในคราวที่ได้ฟังประกอบหนังเรื่องนี้ เพราะชื่อเพลงก็บอกแล้วว่าเป็นเพลงประจำตัวของเทพจูปิเตอร์หรือซุสแห่งเขาโอลิมปัสซึ่งมีอุปนิสัยร่าเริง ผิดกับอารมณ์ของหนังที่ไปในทางโศก เหงา และฝัน ๆ
ประการที่สาม คือ ตัวละครชุดเดิมสองคน(อย่างน้อย) ได้แก่ ฮายาโตะ อิชิฮาระ หนุ่มหน้านิ่งจาก All about lily chou chou และคนสำคัญ ยู อาโออิ(ไม่ใช่โซระ) จากภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน และสร้างผลงานไว้มากมายจากเรื่อง Sugar and spice และ Hula girl ซึ่งในเรื่องนี้สาวยูผู้น่ารักแสดงเป็นน้องสาวตาบอดของ จูริ นางเอกของเรื่อง
ประการที่สี่ คือ ลักษณะเฉพาะ หรือสัญลักษณ์ชวนให้จดจำ ซึ่งในเรื่องนี้มีเต็มเปี่ยม เช่น ฉากสวมแหวนในเงาน้ำ, แหวนธนบัตร และการผลักของนางเอก อย่างที่เราได้เห็นใน All about Lily chou chou โดยหลัก ๆ แล้วคือเสียงเพลงของลิลี่ ชู ชู,มิวสิควีดีโอ, เสาไฟฟ้า, ทุ่งหญ้าสีเขียว และเสียงเปียโนบรรเลงเพลงของเดอบุสซี
แม้จะมิได้ลงมือกำกับเอง แต่ทั้งเรื่องก็เป็นเงาของชุนจิ อิวาอิ จากทุ่งหญ้าสีเขียวผ่านมายังรุ้งกลับหัวบนฟ้าคราม
น่าสนใจว่า “สัญลักษณ์” ใดที่เขาจะนำมาผูกปม และสร้างเงื่อนให้เราตีความกันอีกในอนาคต
แต่สำหรับตอนนี้ทั้งคืนของข้าพเจ้าขอยกให้ Rainbow Song ซึ่งทำให้…นอนไม่หลับอีกเช่นเคย
๒๗ กันยา ๒๕๕๒
ใกล้วันใหม่
แต่หัวใจดวงเก่า