Monster (2023) เราต่างเป็นปีศาจในสายตาบางคน

Monster (2023) เราต่างเป็นปีศาจในสายตาบางคน
Monster

งานของ Hirokazu Kore-eda ที่ผมชอบมากถึงขั้นหลงรักคือ Our Little Sister (2015) หรือ Umimachi Diary ที่ถ่ายทอดจิตใจที่หม่นเศร้าอย่างละเมียดละไม เหมือนสายฝนในวันแดดออก

สไตล์การเล่าเรื่องของ Kore-eda ที่เป็นไปอย่างราบเรียบ ไม่รีบร้อน เหมือนพาเราเฝ้าดูกิจวิตรประจำวันของตัวละครและพานพบกับสิ่งตกกระทบต่อจิตใจไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งทำให้เรารู้สึกผูกพันกับตัวละคน และพร้อมที่จะลงทุนเวลากว่าสองชั่วโมงไปกับการทำความรู้จักพวกเขา

 

งานของ Kore-eda จึงเป็นงานแบบ Character-oriented ที่เนิบช้า แผ่วเบาเหมือนเสียงฝีเท้ายามค่ำคืน แต่ขณะเดียวกันก็กระทบใจและทำให้ครุ่นคิดต่อไปได้อีกหลายวัน

Monster (2023) ก็ไม่ต่างกัน

Kore-eda ใช้การเล่าเรื่องแบบสลับมุมมอง หรือที่หลายคนชอบเรียกว่า “เล่าเรื่องแบบราโชมอน” นิยายของ Akutagawa Ryunosuke ที่ Akira Korosawa นำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คลาสสิคระดับตำนาน ซึ่งแม้ว่าในระยะหลังภาพยนต์แนวสืบสวนสอบสวนจะนำวิธีเล่าเรื่องแบบนี้ไปใช้ค่อนข้างมาก แต่ใน Monster มันทำให้เราเข้าใจตัวละครและธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น ทั้งความรัก ความผิดพลาด ด้านมืด ด้านสว่าง บางช่วงทำให้นึกถึง Nobody Knows (2004) ที่สำรวจมุมมืดของญี่ปุ่นได้อย่างขื่นขมและเหงาลึก

 

เมื่อเรามองเหตุการณ์ด้วยมุมมองหนึ่ง คน ๆ หนึ่งก็อาจกลายเป็น “ปีศาจ” ไปด้วยอคติและ “เรื่องเล่า” ที่เค้าว่ากันว่า ทั้งที่ยังไม่ได้รู้จักตัวตนหรือรับรู้เรื่องราวทั้งหมด ปีศาจในเรื่องนี้จึงเป็นการตัดสินใจวิพากษ์ไปเองของตัวเราและสังคม ซึ่งมันมีผลทำให้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งต้องพังทลายลง หรือต้องเผชิญกับทางเลือกสุดแสนลำบาก นี่คือการวิพากษ์วิจารณ์สังคมญี่ปุ่นที่ภายนอกได้รับการชมเชยเป็นอย่างมาก ว่าแท้จริงแล้วก็เต็มไปด้วยการกดทับและกดดันที่ไม่เอื้อนเอ่ยได้ เหมือนฉากเป่าทรอมโบนและฮอร์นท้ายเรื่อง

ทุกคนมีความลับที่ไม่อาจเปิดเผยได้ แม้ในวันสุดท้ายของชีวิต และนั่นก็คือความเจ็บปวดที่ต้องแบกรับไว้

Monster เป็นหนังที่ดีมากเรื่องหนึ่ง แต่ก็เป็นไปในมาตรฐานของ Kore-eda ความงดงามของ Cinematography การย้อมสีภาพอันเป็นสไตล์ของเขา และการแสดงของตัวละครที่น้อยแต่มาก ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ทำให้ Monster น่าจะกวาดรางวัลได้อีกมาก รวมถึง Oscar สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศด้วย

 

สิ่งที่ชอบมาก คือ นักแสดงเด็ก 2 คน ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง เล่นได้ดีมาก ทั้งการแสดงออกทางสายตา และท่าทาง เชื่อว่าน่าจะกลายเป็นนักแสดงดาวรุ่งของญี่ปุ่นในอนาคต นอกจากนี้ ทีมหา Locations ก็เก่งมาก แม้เรื่องจะเกิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ แต่ก็สามารถหาสถานที่ที่มีความหมายในทางสัญญะ และมีความงดงามในแบบของ Kore-eda จนจุดหนึ่งแทบจะคิดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่งเลยทีเดียว

ส่วนตอนจบนั้น ชอบที่ทิ้งไว้เป็นแบบ Open-end แบบนี้ เพราะในชีวิตจริงคงไม่มีคำตอบสุดท้าย 

และถ้าไม่โลกสวยเกินไป ชีวิตคงหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดไม่ได้ 

แต่ความเจ็บปวดต่างหากที่ทำให้เรารู้รสชาติของชีวิต 

และนั่นคือ Coming-of-age ที่แท้จริง 

 

Monster (2023) เราต่างเป็นปีศาจในสายตาบางคน
Monster (2023) เราต่างเป็นปีศาจในสายตาบางคน
We will be happy to hear your thoughts

Leave a reply

S. Udakarn
Logo
Enable registration in settings - general