เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน
หนังสือบางเล่ม ภาพยนตร์บางเรื่อง มีอะไรมากกว่าความเพลิดเพลินหรือความลุ่มลึกของ ‘สาร’ ที่สื่อผ่านถ้อยคำหรือแผ่นเฟรม
มันมี ‘มิติด้านเวลา’ ที่เชื่อมโยงเข้ากับ ‘ความทรงจำส่วนตัว’ ไม่ต่างจากบุคคลหนึ่งๆ ที่เติบโตมาพร้อมกัน มีความผูกพันบอบบางที่นึกถึงคราใดก็วาบหวิวใจประหวัดถึงโมงยามแห่งอดีต ชั่วหนึ่งของชีวิต ชั่วขณะของการเดินทางอันยาวนาน หรือวัยเยาว์ที่เรายังฝันได้โดยไม่ต้องดำดิ่งลงสู่ห้วงนิทรา
Jurassic World (2015) ภาคต่ออย่างเป็นทางการที่ซื่อสัตย์ต่อ Jurassic Park (1993) มากที่สุดสำหรับเด็กหรือคนหนุ่มสาวที่เติบโตมาในศตวรรษใหม่ แวดล้อมด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีมากมาย จากโทรศัพท์มือถือสู่วอล์คแมน จากวอล์คแมนสู่ไอพอด จากไอพอดสู่ไอโฟน/ไอแพด และอีกมากมาย พวกเขาคงไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายกับหนังเรื่องนี้มากไปกว่าหนังแอ็คชั่นที่เปลี่ยนจากหุ่นยนต์หรือเอเลี่ยนมาเป็นไดโนเสาร์ที่เข้ามาคุกคามมนุษย์เท่านั้น
ทว่าสำหรับใครหลายคน ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น หากไม่เป็นการเกินจริงไปนัก ผมกล้าพูดได้ว่าตนเองยอมจ่ายค่าตั๋วหนังเข้าไปแค่ได้นั่งดูฉาก Halicopter บินมุ่งหน้าสู่เกาะโดดเดี่ยวทางทิศตะวันตกของ Costa Rica ลัดเลาะไปตามหุบเขาเขียวขจีปราศจากสิ่งปลูกสร้างคลอเพลง Original Jurassic Park Theme ของ John Williams เพียงฉากได้ทั้งเรื่องก็นับว่าคุ้มค่า และสำหรับแฟน Jurassic Park การได้ย้อนกลับไปยังสถานที่เก่าๆ ที่เราเคยสัมผัสเมื่อหลายสิบปีก่อน (อันที่จริงก็กว่า 22 ปีนับตั้งแต่ภาคแรก) นับว่าสร้างความรู้สึกตื้นตันได้อย่างเหลือเชื่อ หลายคนน่าจะกลั้นน้ำตาไม่อยู่หากเห็นความฝันของ John Hammond เป็นจริงขึ้นมา
การออกแบบ Park ตลอดจนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผู้กำกับใส่เข้ามาในท้องเรื่องเพื่อคารวะ Jurassic Park ภาคแรกนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของ Jurassic World ซึ่งเป็นหนังที่ผมมิได้คาดหวังตั้งแต่แรก เนื่องจากคาดได้ว่าหนังน่าจะมีปัญหาอย่างหนักในการเล่าเรื่องในแนวทางที่แปลกไปกว่าสามภาคแรก แม้กระทั่งมีข่าวออกมาถึงการใช้ไดโนเสาร์เป็นอาวุธ (ซึ่งจริงๆ ประเด็นนี้ก็ไม่ได้ทิ้ง และยังชวนให้คิดต่อไปอีกได้มาก) อย่างไรก็ตาม นับได้ว่าผู้กำกับสามารถคุมดุลยภาพของตัวหนังได้ดีระหว่างการพาแฟนดั้งเดิมกลับไปสู่โลกที่พวกเขารักและคุ้นเคยอีกครั้ง กับการแนะนำโลกของไดโนเสาร์แก่ผู้ชมรุ่นใหม่ที่อาจเกิดไม่ทันภาค 3 เสียด้วยซ้ำ
กระนั้นหากเรามอง Jurassic World ในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ในสายตาของนักวิจารณ์ ก็ต้องยอมรับว่ามันยังห่างไกลจากภาพยนตร์ที่มีความเป็นเลิศในแง่ของการเล่าเรื่อง, การแสดง หรือแม้กระทั่งเทคนิคพิเศษ หรือหากพูดถึงสารดั้งเดิมที่สามภาคแรก ‘ผลิตซ้ำ’ มาตลอดอย่าง ‘Life will find the way’ หรือการวิพากษ์วิจารณ์การยกตนขึ้นเป็นจุดศูนย์สุดของห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ก็นับว่ามิใช่เรื่องแปลกใหม่
ทว่าอย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณา ‘Jurassic World’ ในฐานะการหวนคืนกลับมาอีกครั้งของ Series หนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ในวงการภาพยนตร์ก็อาจกล่าวได้ว่าหนังเรื่องนี้ทำได้เกินความคาดหมาย การแนะนำตัวละครใหม่ที่มิใช่นักโบราณคดีหรือนักคณิตศาสตร์ (แอบเสียดาย หนังเรื่องนี้ทำให้ทั้งสองวิชาชีพดูเท่มากๆ ใครจะรู้ว่าการเอาแปลงไปขูดๆ ขัดๆ ดินหรือหินจะเป็นการเล่นที่สนุกเพลิดเพลินมากในโลกที่ไร้ไอโฟน) ที่มี Background เป็นทหารก็บ่งบอกถึงมิติทางการเมืองได้เช่นกัน โดยเฉพาะชีวิตของทหารผ่านศึกอเมริกัน แม้กระทั่งการฝึก Raptor ที่นำไปสู่บทสรุปในตอนท้ายก็สามารถตั้งคำถามได้ถึงประเด็น Nature VS Nurture ซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาช้านาน
นอกจากหนังยังรักษาสมดุลระหว่างการเชิดชูและวิพากษ์การสถาปนาตัวเองของ ‘วิทยาศาสตร์’ ในฐานะศาสตร์แห่งความก้าวหน้าได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการนำ Dr.Henry Wu จากภาคแรกกลับมาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทั้ง Jurassic Park&World ตัวจริงที่มิใช่นายทุนกระเป๋าหนักที่ ‘spare no expense’ ในการสร้าง Dinosuar Theme Park ขึ้นมา แม้ว่าในส่วนของ Masrani จะดำเนินการภายใต้ปรัชญาที่ต้องการตอกย้ำมนุษย์ให้สำนึกถึงความต่ำต้อยของตนเอง และตัวหนังก็พยายามเล่นในประเด็นดังกล่าวตลอดทั้งเรื่อง ผ่านตัวละครต่างๆ ที่พยายามแข็งข้อหรือเล่นกับธรรมชาติก็ต้องลงท้ายด้วยการถูก ‘ธรรมชาติ’ กินหรือแม้กระทั่งไดโนเสาร์เองก็หลีกไม่พ้นที่จะถูก ‘ลากลงไปกินในน้ำ’ ตามวงจรชีวิตที่มีทั้งผู้ล่าและเหยื่อ
สิ่งที่ผมเห็นว่าตัวหนังทำได้ดีอีกประการหนึ่ง คือ ฉากแอ็คชั่นที่หากใคร (เด็กผู้ชาย) มีชีวิตวัยเยาว์โลดแล่นอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายทศวรรษที่ 1990s ถึงต้น 2000s คงหลีกไม่พ้นที่จะไม่รู้จักเกมดังๆ อย่าง Dino Crisis หรือ Resident Evil (Dr.Wo ทำให้นึกถึง Wesker) การได้เห็นฉากแอ็คชั่นในแนวทางแบบนั้นมาปรากฎบนจอภาพยนตร์ บอกตรงๆ ว่าผมเองถึงกับตบเข่าฉาด แล้วกระทืบเท้าด้วยความสะใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นหากจะกล่าวได้ว่า Jurassic World เป็นหนังที่ดึงความเป็นเด็กในตัวผู้ใหญ่หลายคนออกมาในช่วงเวลาสองชั่วโมงนั้นคงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะเด็กที่เกิดในยุค 1980s ถึง 1990s ในยุคที่โลกยังไม่รู้จัก Ipad, Iphone หรือ Social Network ในโลกที่วงการภาพยนตร์ยังไม่ครอบงำด้วยการถูกผลิตซ้ำอย่างจำเจทั้งการ Remake, Reboot, Reborn , Recycle etc. หรือมีแต่หนังฮีโร่ภาคต่อเท่านั้นที่ทำเงินถล่มถลาย
การกลับมาของ Jurassic Park ในรูปโฉมใหม่นี่ก็อาจเปรียบได้ว่า N-Rex หรือ Rex Nostalgia (King of Nostalgia) ที่พาเราย้อนกลับไปยังโลกแห่งวันวานที่เราผ่านพ้นมา เป็นความทรงจำส่วนตัวอันมีค่า ภาพยนตร์บางเรื่องหนังสือบางเรื่องที่เราเติบโตไปพร้อมกับมัน เปิดออกอ่านบางครั้ง แต่ละบรรทัด แต่ละครั้งที่เราสัมผัส ล้วนแล้วแต่มีมิติทางกาลเวลาเร้นอยู่ ราวกับบันทึกความทรงจำที่เราไม่เคยเขียน สมุดไดอารี่ที่เราไม่เคยตั้งใจอ่าน แต่เมื่อกวาดตาเจอประโยคหรือฉากหนึ่งที่มีความหมาย ความทรงจำก็เราก็หวนคืนกลับมาอย่างน่าอัศจรรย์ แม้จะไม่ปรากฎเป็นภาพที่แจ่มชัด แต่ความรู้สึก…ความรู้สึกของอดีตที่ผ่านเลย ความรู้สึกที่ถูกกลืนไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในแต่ละย่างก้าวของชีวิต ความรู้สึกที่หล่นหายไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ความรู้สึกนั้นกลับมา…และสร้างความอบอุ่นใจราวกับได้สวมกอดเพื่อนเก่าวัยเยาว์ที่ห่างหายจากกันไปนาน
ไดโนเสาร์แต่ละตัว แต่ละสายพันธุ์ หากเป็นสมัยนี้เพียงเปิด Google เราก็รู้จักมันอย่างถ่องแท้ และก็ไม่จำเป็นต้องจำให้หนักสมอง แต่สำหรับใครบางคนที่มีชีวิตวัยเยาว์ในยุคก่อนที่เราจะต้องซื้อการ์ดอินเตอร์เน็ต ก่อนที่เราจะกลายเป็นผู้ ‘รู้ทุกเรื่อง’ เพียงแค่ปลายนิ้ว ในโลกที่นักโบราณคดีมีคนฟังมากกว่า Wikipedia หนังสือเล่มหนึ่งเคยมีคุณค่าเป็นอย่างมาก ของเล่นชิ้นหนึ่งเคยมีคุณค่ามากกว่านี้ จินตนาการเคยสดใหม่และมีอิสระมากกว่าการอยู่ในโลกที่เราเป็นฝ่ายรับแรงบันดาลใจ โลกที่เราเชิดชู IDOL และเด็กๆ ก้มหน้าก้มตาเรียนทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่อนุบาลโดยแทบไม่เห็นแสงตะวัน
แปลงฟันหนึ่งอันกับจินตนาการ ลานดินที่เต็มไปด้วยกรวดดินหินทราย ใครจะรู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ให้เราค้นพบ อาจมีฟอสซิล อาจมีซากไดโนเสาร์ อาจมีเม็ดอำพันที่มียุงที่ดูดเลือดไดโนเสาร์อยู่ข้างใน อาจมีอะไรอีกมากมายเท่าที่เราใช้จินตนาการอย่างเต็มที่
น่าเสียดายที่เด็กหลายคนในวันนี้อาจจะไม่ได้มีโอกาสคลุกดินคลุกทราย อาจไม่มีโอกาสใช้จินตนาการ เพราะมีคนอีกมากมายที่ใช้จินตนาการแทนแล้วทั้งพ่อแม่, นักออกแบบเกม, นักโฆษณา, ฯลฯ การเป็นคนช่างคิดช่างฝันมักจะถูกตำหนิจากสังคมเสมอ โดยเฉพาะในโลกที่วัดคนจากแบบทดสอบที่ตายตัว ในยุคที่เราสร้างเด็กให้เป็นผู้ใหญ่เร็วเกินวัยด้วยการ ‘เร่งสมรรถภาพให้เจิดจ้าและเด่นดัง’ ไม่ต่างจากการฝืนธรรมชาติด้วยการตัดตัวพันธุกรรมไดโนเสาร์จนสร้างสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่ควบคุมไม่ได้ขึ้นมา เด็กก็คือเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในร่างเด็ก สิ่งที่ขัดเกลาผู้ใหญ่คือประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การสร้างวุฒิภาวะและความรับผิดชอบซึ่งเป็นสิ่งที่ต้อง ‘เรียนรู้ด้วยตัวเอง’ ต้องผิดพลาด ต้องล้ม ต้องเจ็บปวด ต้องอดกลั้น และลุกขึ้นมาก้าวเดินต่อไป
การข้ามมิติเวลาด้วยการให้เด็กเรียนรู้ ‘สิ่งที่ใหญ่เกินไป’ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงที่อันตราย เพราะมนุษย์เราไม่ได้มีการพัฒนาทางสมองอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงอารมณ์ความรู้สึก I-Rex ใน Jurassic World อาจเป็นดาวเด่น เก่งทุกอย่าง เหนือกว่าตัวอื่นในทุกด้าน แต่มันก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร และที่สำคัญคือไม่รู้จักโลก มันไม่สามารถมองเห็นสัตว์ตัวอื่นๆ ในฐานะเดียวกับมัน มันจึงฆ่าทิ้ง เพราะมันไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่อาหาร
Jurassic World ทำให้ผมย้อนคิดถึงช่วงเวลาเยาว์วัยในช่วงปลายศตวรรษที่ 1990s ที่ตาคนเรายังยังชินกับแสงแดดมากกว่าแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าผมมีเยาว์วัยที่ ‘ดีกว่า’ หรือ ‘โรแมนติก’ กว่าเด็กในยุคปัจจุบัน เพราะมันเป็นการตัดสินเชิงคุณค่าที่มิอาจหลีกเลี่ยงความโน้มเอียงของอัตบุคคลได้ สิ่งเดียวที่ผมพอจะนึกออกว่าตัวเองมีเหนือพวกเขาก็คือ การเล่นกับไดโนเสาร์ในยุคนั้น อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียบแบต ไม่ต้องให้มีใครมากดไลค์กดแชร์ (แล้วผมเขียนทำไม 55) ไม่ต้องโชว์ว่าเราทำอะไร หรือแม้กระทั่งไม่ต้องมีอะไรเลยหรือไม่ต้องเสียตังค์อะไรเลย
ไม้กวาดก็เอามากวาดๆ ดิน เผื่อเจอฟอสซิล เจอหินก็เอามาวางเป็นรูปเค้าโครงไดโนเสาร์ เสียงลมพัดประตูดังปึ้งก็นึกว่า T-Rex มา ยิ่งเห็นแอ่งน้ำมีร่องรอยกระเพื่อมก็เตรียมวิ่งได้เลย จินตนาการไม่มีราคา ไม่มีมูลค่า ไม่ต้องง้อใคร เขียนไปเขียนมาเหมือนว่าผมจะถูกเจ้าตัว N-REX เล่นงานเข้าให้แล้ว ยิ่งเขียนก็ยิ่งดูเหมือนเด็กไม่รู้จักตัว แต่ทำไงได้ คนบางคนเกิดมาเป็นคนเพ้อฝัน เป็นคนช่างเหม่อลอย เหมือนจะมีปัญหา ไม่เต็มเต็ง แต่ก็ปกติ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ใคร
Life will find the way ชีวิตย่อมมีหนทางของมันเองเสมอ เราไม่จำเป็นต้องแทรกแซง ไปตัดต่อ แต่งแต้ม เร่งประสิทธิภาพจนลัดขั้นตอนของพัฒนาการ แน่ล่ะ อาจมีคนแย้งว่าถ้ามัวแต่ช้าก็ต้องแพ้คนอื่น ซึ่งก็จริงอยู่ในสังคมที่ให้ค่าแก่การแข่งขัน ให้คุณค่ากับการรวยทางลัด เศรษฐีอายุน้อย หรืออัจฉริยะหน้าใส เราอาจออกแบบเด็กที่เก่งเลิศเลอและมีชีวิตที่ดีได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่สำหรับทุกคน บางคนอาจเผชิญกับความกดดันตั้งแต่เด็ก อาจเจอกับการแข่งขันอย่างหนักตั้งแต่อายุน้อยๆ มันจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ก็แล้วแต่ทัศนคติของแต่ละคน แต่ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจที่ราคาที่ต้องจ่ายเสมอ และวัยเยาว์หรือช่วงชีวิตที่สิ้นสูญไปแล้วมิอาจย้อนคืนหรือใช้ DNA โคลนนิ่งมันกลับมาได้แบบไดโนเสาร์
วัยเยาว์เป็นช่วงเวลาที่มีค่า เป็นช่วงเวลาที่จินตนาการยังอยู่กับเรา เป็นจุดหนึ่งที่ไดโนเสาร์ยังเป็นไดโนเสาร์ ไม่ใช่สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธ์ไปแล้วและมีคนชุบชีวิตกลับมาหลอกเอาเงินคนที่ซื้อตั๋วเข้าไปดู เด็กหลายคนในวันนี้โตเร็วมาก และเรียนรู้ในสิ่งที่เกินวัยไปมากอย่างไม่น่าเชื่อ ผมไม่ตัดสินว่ามันดีหรือไม่ดี แต่คิดว่ามันคงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถรักษา ‘ความเป็นเด็ก’ และ ‘วิธีการมองโลกด้วยสายตาของเด็กๆ’ ไว้กับเขาไว้ให้นานที่สุด เพราะสักวันหนึ่งมันจะต้องหล่นหายไป บางคนเช่นผมอาจจะค้นเจอเป็นบางครั้ง
แต่สำหรับบางคนมันอาจจะหายไปจากความรับรู้ของเขาเลยจนชั่วชีวิต
เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook ปี 2015