ความสนุกของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การขมวดปมและผูกเงื่อนจนเดาฆาตกรไม่ออก หรือการเฉลยคนร้ายตามแนวหนัง whodunit จนเราหงายหลัง
แต่อยู่ที่การ Execution หนังให้สนุก เหมือนมีวัตถุดิบ แต่จะปรุงอาหารออกมาอย่างไรให้อร่อย จุดนี้คือสิ่งที่ Rian Johnson ทำออกมาได้ดี เพราะเขาเป็นนักเขียนที่มีฝีมือทีเดียว และนักเขียนที่ดีย่อมมาจากการอ่านมาก
Knives Out จึงเต็มไปด้วยร่องรอยและบทคารวะงานของ Agatha Christie หรือ Arthur Conan Doyle ตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงพาเราไปรู้จักกับ Benoit Blanc (Daniel Craig) นักสืบเอกชนที่อาจจะเป็นตัวละครเปิดจักรวาลนักสืบของ Johnson ต่อไปก็ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่เราเห็นว่าน่าสนใจ คือ ผู้กำกับ Rian Johnson เป็นคนที่ทำหนังแบบมี ‘แก่นเรื่อง’ (theme) นำพอสมควร ซึ่งธีมของเรื่องนี้ก็คือ ความเป็นคนนอก/คนชายขอบของผู้อพยพ (immigrant) อันเป็นประเด็นร่วมสมัย และแฝงฝังตลอดทั้งเรื่อง หนังเรื่องนี้จึงจิกกัดสังคมอเมริกันในอย่างเจ็บแสบ ทั้งฟากเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมดุจกัน
เช่นเดียวกันกับ The Last Jedi ที่พูดถึงประเด็นความล้มเหลว (The Greatest Teacher, Failure is) แต่คนที่ไม่เปิดใจก็ไปว่าผู้กำกับเสีย ๆ หาย ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว Rian Johnson ใช้องค์ประกอบของหนังทั้งเรื่องดุจกลไก จักรกล และฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนไปสู่สารที่ต้องการจะนำเสนอ
สิ่งที่ฮอลีวู้ดต้องการตอนนี้อาจไม่ใช่พ่อมด CGI หรือเทคโนโลยี แต่เป็นมือเขียนบทที่สามารถนำมรดกที่หนังและวรรณกรรมยุคก่อนได้ทิ้งไว้มาเล่าใหม่ให้สอดคล้องกับประเด็นร่วมสมัย และบริบทปัจจุบันอย่างมีชั้นเชิงและมีคลาส
ใน Knives Out มีการพูดถึงมีดจริงกับมีดประกอบฉาก
ก็ไม่ต้องสงสัยว่า Rian Johnson คือ มีดจริงอย่างแน่นอน
ปล. ความสนุกอย่างหนึ่งคือตัวละครของครอบครัวนี้น่าสนใจมาก และเป็นปัญญาชนทั้งครอบครัว ดูจากการอ่าน New Yorker หลานชายก็อ่านนิยายของปู่ สนใจเรื่องการเมือง หลายสาวเรียนวรรณกรรมแนวรื้อสร้างที่ดูเหมือนว่าน่าจะเป็น New School ที่ New York ครอบครัวนี้ดูจะแชร์ Liberal Worldview ทั้งครอบครัว แต่ทำไม……..นี่คือการกัดจิก ย้อนแย้งที่เราว่าแสบมากทีเดียว