[รีวิว] Frozen 2 ปล่อยไปตามหัวใจ

รีวิว Frozen 2
Don’t you know there’s part of me that wants to go into the unknown?
รีวิว Frozen 2
รีวิว Frozen 2
ลิงก์ผู้สนับสนุน

 

เสฏฐวุฒิ อุดาการ

“Don’t you know there’s part of me that wants to go into the unknown?” – Elsa

          ขณะที่หลายคนอาจจะชื่นชอบฉากจบที่ดูราวกับว่าจะแฮปปี้เอนดิ้งของ Frozen (2013)

          เรากลับรู้สึกแปลกแยกกับปมที่ดูเหมือนจะคลี่คลายลงไปได้ ด้วยการยอมรับในอัตลักษณ์/พลังวิเศษของ Elsa ของคนรอบข้างและพสกนิกรแห่งเมืองอาเรนเดล

          เพราะในส่วนลึกแล้ว เรารู้ว่าตัวละครที่เต็มไปด้วยปมในใจอย่าง Elsa ย่อมไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างง่ายดายอย่างที่ฉากจบของ Frozen ภาคแรกพยายามนำเสนอ

          เพราะในความเป็นจริงแล้ว เธอรู้ตัวอยู่เสมอว่าสถานะความเป็นราชินีแห่งอาเรนเดล และการอยู่ท่ามกลางประชาชนไม่ใช่ที่ของเธอ เธอรู้ดีอยู่แก่ใจ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ เพราะการสละทุกอย่างทิ้งเพื่อตามเสียงที่แว่วมาจากแดนอันไกลโพ้นก็ไม่ต่างอะไรจากการทิ้งประชาชน หน้าที่ และภารกิจที่มาพร้อมกับตำแหน่งสูงศักดิ์ของเธอ

          นี่คือสิ่งที่ Frozen 2 พาเราไปสำรวจ มันไม่ใช่เรื่องของการปลดปล่อยอัตลักษณ์อีกต่อไป

          แต่เป็นเรื่องของทางสองแพร่งที่ยากจะตัดสินใจ ระหว่างการเลือกที่จะก้าวไปตามเสียงข้างในจิตใจ หรือพยายามหลีกเลี่ยงมันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

          และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้เราชอบ Frozen 2 มากกว่าภาคแรก

 

          การเปรียบเทียบหนังทั้งสองภาคดูจะไม่เป็นธรรมกับคนเขียนบทเท่าใดนัก เพราะหนัง Frozen กับ Frozen 2 มี ‘สาร’ ที่ต้องการนำเสนอแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

          ในขณะที่ Frozen ภาคแรกกล่าวถึงการก้าวพ้นช่วงวัย การยอมรับในอัตลักษณ์ และความรักในครอบครัว

          Frozen 2 กลับพาเราไปพบกับประเด็นที่ใหญ่ยิ่งกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นธีมที่ครอบคลุมโครงเรื่อง (overarching theme) ของจักรวาล Frozen ไว้ทั้งหมดอย่างความสัมพันธ์ระหว่างพลัง (ที่ไม่ได้อยู่เหนือ) ธรรมชาติของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำให้ขาดสมดุลจากน้ำมือมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงภาพแทนเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกนำเสนอในโลกภาพยนตร์และวรรณกรรมบ่อยครั้งในเชิงความชั่วร้าย กระหายอำนาจ และมักมาพร้อมกับการทำลายล้างเสมอ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากจนเกินไป

          ใน Frozen 2 แม้ชีวิตหลังเหตุการณ์ในภาคแรกของสองพี่น้อง Elsa และ Anna จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่สำหรับ Elsa เธอรู้ตัวเองดีว่าปราสาท ความหรูหรา และอภิสิทธิ์ชนไม่ใช่ที่ของเธอ แม้ว่าจะปลดปล่อยอัตลักษณ์ออกมาได้โดยปราศจากการปิดกั้น แต่เธอก็ยังรู้สึกแปลกแยก ไม่เข้าพวก และปรารถนาที่จะออกเดินทางไปตามเสียงเพรียกร้องจากแดนไกลอยู่เสมอ ซึ่งในความจริงแล้ว เสียงที่ว่ามิได้มาจากที่ไหนไกล นอกจากดวงใจของเธอนั่นเอง

          Frozen 2 เป็นหนังที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจ เพราะองก์แรกของหนัง ในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกกับองค์ที่สองของหนังในช่วงสี่สิบนาทีสุดท้ายนั้นแตกต่างกันราวกับเปลี่ยนผู้กำกับกลางคัน

           หนังมีลักษณะเหมือนน้ำหอมบางกลิ่นที่เปิดตัวด้วยโน้ตชุ่มฉ่ำของน้ำทะเลและมิ้นท์ แลดูราบเรียบและสุขุมจนชวนหลับไปบ้าง ก่อนตามด้วยสัมผัสความหอมนุ่มนวลของโทนวู้ดดี้ มัสค์ อำพันออกมาในช่วงกลางเรื่อง แต่เมื่อเริ่มเข้าช่วงองก์หลังหรือประมาณสี่สิบนาทีสุดท้าย หนังก็เผยกลิ่นที่แท้จริงออกมาด้วยโทนสไปซี่ซาบซ่านและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก จึงอาจกล่าวได้ว่าครึ่งหลังของ Frozen 2 ช่วยแบกหนังทั้งเรื่องไว้ให้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ

 

          พูดถึง Frozen จะหลีกเลี่ยงเพลงประกอบไปไม่ได้ แน่นอนเมื่อพูดถึงดิสนีย์ ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึงเพลงประกอบแบบมิวสิเคิลที่เป็นจุดขายของแอนิเมชั่นค่ายมิกกี้เมาส์แทบทุกเรื่อง นับตั้งแต่ Pinocchio (1940) เป็นต้นมา ซึ่งใน Frozen 2 แม้ว่าจะไม่ได้มีเพลงประกอบอย่าง Let It Go ที่ช่วยกลบโครงเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนแอของ Frozen ภาคแรกและส่งผลต่อความนิยมในตัวหนังมากพอสมควร แต่ก็มีอยู่หลายเพลงด้วยกันที่มีส่วนอย่างมากในการขับเน้นซีนบางซีนให้ทรงพลังขึ้นมา

          แม้หลังจากดูจบแล้วกลับมานั่งฟังอีกครั้งก็ไม่รู้สึกว่า score มีความทรงพลังมากเท่ากับการดูประกอบซีนในหนัง โดยเฉพาะซีนยาวติดต่อกันตั้งแต่ Elza พยายามขี่ ‘ม้าน้ำ’ (ใช่ มันคือ ม้า+น้ำ จริง ๆ) ข้ามไปยังดินแดนอันไกลโพ้นกลางทะเล (Into the Unknown) ไปจนถึงซีนตัดสินใจสำคัญของ Anna ซึ่งเราค่อนข้างชอบเพลงในช่วงนี้ได้แก่ ‘Show Yourself’ (เพลงนี้เจ๋งมาก) ‘The Next Right Thing’ (ก้าวพ้นช่วงวัย) มากกว่าเพลงธีมหลักของเรื่องที่พยายามโปรโมตกันอย่าง ‘Into the Unknown’ เสียอีก

          เชื่อว่าหลายคนอาจจะบ่นว่าเพลงประกอบภาคนี้ไม่ติดหูแบบภาคแรก ซึ่งเราก็ยอมรับว่าจริง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สุนทรียรสของเพลงประกอบในแต่ละซีนที่มีส่วนในการ ‘บอกเล่า’ และ ‘ขับเคลื่อน’ เรื่องราวของหนังลดคุณค่าลงไปแต่อย่างใด

          ยกเว้นเพลงตัดพ้อสาวกับ MV แบบยุค 80s (นึกถึงหน้า Lionel Richie ขึ้นมาเลย) ชื่อ ‘Lost in the Woods’ ของ Kristof ซึ่งส่วนตัวเราค่อนข้างรำคาญและคิดว่ามันอยู่ผิดที่ผิดทางไปหน่อยเมื่อเทียบกับโทนของเรื่อง ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า Frozen 2 ขับเคลื่อนด้วยตัวละครหลักที่เป็นหญิง ดังนั้นตัวละครชายในเรื่องนี้จึงมีบทบาทเพียงแค่สนับสนุน

          โดยเฉพาะในช่วงท้ายที่ Kristof ถามเพียงว่า “ต้องการให้ช่วยอะไร” แล้วทำตามสิ่งที่ Anna บอกเพียงเท่านี้ก็พอเข้าใจ อันนับว่าน่าพอใจที่ในที่สุดตัวละครชายก็ตกเป็นอยู่ในสถานะเดียวกับที่ตัวละครหญิงที่ถูกทำให้เป็นเพียงแค่ Sex symbol หรือเหยื่อที่ชายต้องขี่ม้าขาวไปช่วยมาตลอดร้อยปีที่ผ่านมาในโลกภาพยนตร์

           แต่ไม่ใช่หนังเรื่องนี้

 

         Frozen 2 มีจุดหักมุมหลายจุดที่หลายคนน่าจะเดาทางได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ส่วนตัวเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับการใช้กราฟฟิคออกแบบจักรวาลของ Frozen ทั้งตัวละคร สถานที่ ความงดงามของธรรมชาติ เวทมนตร์ซึ่งทำออกมากได้น่าตื่นตาตื่นใจมาก ๆ

          เราชอบการดีไซน์ชุดของ Elza 2.0 ในช่วงท้ายเรื่องมาก เพราะเป็นการฉายภาพให้เห็นว่านี่แหละคือตัวตนที่แท้จริงของเธอ

          การร้องเพลง Let it go ในภาคแรกไม่ได้ทำให้เธอหลุดพ้นจากพันธนาการที่กักขังอัตลักษณ์เธอไว้ แต่การออกเดินตามเสียงเพรียกจากแดนไกลกระทั่งพบความจริงในอดีตที่ปลดล็อคและคลี่คลายปมทุกอย่างในใจเธอลง นี่แหละคืออิสรภาพของ Elza อย่างแท้จริง ซึ่งปรากฏออกมาในรูปลักษณ์โฉมใหม่ของเธอในช่วงท้ายเรื่อง เช่นเดียวกับ Anna ที่ต้องก้าวต่อไปพร้อมกับ ‘The Next Right Thing’ ที่เรียกได้ว่าเป็นบทสรุปที่แท้จริงของ Frozen ซึ่งเราค่อนข้างพอใจทีเดียว

          โดยสรุป Frozen 2 ไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ มีบางช่วงบางตอนที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ก็นับว่าเป็นหนังที่มีความน่าสนใจในการหยิบยกประเด็นการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นธีมหลักของ Frozen ตั้งแต่ภาคแรก สังเกตได้จากเพลงประจำเผ่า Northuldra ที่ใช้โหมโรงเรื่องมาตั้งแต่ภาคแรกและถูกนำมาเฉลยในฉากสำคัญของ Frozen 2 ซึ่งก็แอบทำให้นึกถึงแอนิเมชั่นของ Studio Ghibli หลายเรื่อง โดยเฉพาะ Princess Mononoke ที่เป็นหนังเรื่องโปรดตลาดกาลของเราเรื่องหนึ่ง ใจจริงอยากเห็น Joe Hisaishi มาทำ Score ให้ Disney สักเรื่องอยู่เหมือนกัน แม้จะเป็นไปได้ยากก็ตาม

         

           นอกจากนั้น หนังยังนำเสนอประเด็นการรับมือกับผลลัพธ์ที่ตามมาของการเปิดเผยอัตลักษณ์ เป็นภาคต่อของ Let it go ด้วยการ ‘Show yourself’

            ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นเห็น หรือพิสูจน์ตัวเองแก่ใคร

           แต่เพื่อยืนยันกับตนเองอีกครั้งว่านี่คือทางที่ได้เลือกเดินแล้ว

           และจะไม่หันหลังกลับไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

          เป็นคำตอบของคำถามที่ Elsa กล่าวกับน้องสาวใน Frozen 2

          “เธอรู้ไหมว่ามีส่วนหนึ่งภายในใจฉันที่เรียกร้องอยากจะเดินทางไปยังดินแดนอันไกลโพ้นนั้น?”

          แล้วในท้ายที่สุด Elsa ก็เลือกที่จะออกเดินตามเสียงเพรียกร้องนั้นไป

          เพียงเพื่อพบว่าเสียงนั้นแท้จริงแล้วมาจากภายในใจของเธอเอง

          และที่นั้นเองที่เธอได้ค้นพบที่ซึ่งเหมาะสมกับตัวเธอเอง

          Not to the Unknown

          But to Where She Belongs

        “Where the north wind meet the sea

          There’s a river full of memory”

 

ปล. หนังพยายามดีไซน์ตัวละครหลายตัวที่แลดูน่ารักเพื่อเอาใจเด็ก ๆ และสาว ๆ อย่างตัวซาลามันเดอร์/จิ้งจกไฟซึ่งน่าจะช่วยในการขายของเล่นได้ดี แต่ขอบอกเลยว่านาทีนี้ไม่มีอะไรเด็ดกว่า Baby Yoda จาก The Mandalorean อีกแล้ว เสียใจด้วยนะ  

 

ลิงก์ผู้สนับสนุน
[รีวิว] Frozen 2 ปล่อยไปตามหัวใจ
[รีวิว] Frozen 2 ปล่อยไปตามหัวใจ
We will be happy to hear your thoughts

Leave a reply

S. Udakarn
Logo
Enable registration in settings - general