เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน
– ไมค์ แบนนิ่ง ตะเกียกตะกายออกจากซากรถบรรทุก เสียงหวูดจากรถตำรวจดังใกล้เข้ามา ท่ามกลางความหนาวเหน็บของป่าใหญ่ เขาไม่มีทางเลือก นอกจากกระเสือกกระสนวิ่งตรงเข้าไปในดงไม้ หวังว่าจะใช้ความมืดของป่าในการอำพรางตัว อดีตองครักษ์พิทักษ์ประธานาธิบดีมือหนึ่งที่เคยถูกอุ้มชูอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส บัดนี้ต้องพยายามเอาตัวรอดด้วยการหลบซ่อนจากอำนาจรัฐ ไม่ต่างจากนักโทษหนีคุกคนหนึ่ง –
Angel Has Fallen (2019) ไม่ใช่หนังที่เราจะสวมเลนส์ของนักวิจารณ์เข้าไปนั่งชม เช่นเดียวกับหนังอื่น ๆ ในปีนี้อย่าง Godzilla: The King of Monster หรือ Crawl ที่เราเข้าไปดูก็เพราะอยากดูสัตว์ประหลาดต่อสู้กัน หรือ อยากเห็นจระเข้กินคน โดยไม่ต้องแสวงหาแก่นสารทางปรัชญาของหนังให้ล้าสมอง เช่นเดียวกับ Angel Has Fallen ที่เราซื้อตั๋วไปดูเพราะอยากเห็นไมค์ แบนนิ่ง เตะคน กับดูการแสดงของ Morgan Freeman ในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งหนังก็ตอบโจทย์ความต้องการได้ในระดับหนึ่ง แล้วก็มีประเด็นฝากให้คิดกลังจากออกจากโรงหนังมาพอสมควรเหมือนกัน หนึ่งในประเด็นเหล่านั้น คือ แนวความคิดในการ Outsourcing กองทัพ
การเปิดโอกาสให้บริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนเข้ามาดูแลความมั่นคงของรัฐมิใช่ประเด็นใหม่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่หลายภาคส่วนมีการ Privatization เพื่อลดงบประมาณ และใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างและบ่มเพาะนักรบคนหนึ่งขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ สวัสดิการ และการเดินทางไปประจำในหน่วยต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้ทหารเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีราคาแพง และไม่เพียงพอต่อความต้องการ การนำบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ทหารรับจ้างมาทำหน้าที่ด้านความมั่นคงจึงเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนโครงเรื่องของ Angel Has Fallen ซึ่งแม้ว่าหนังจะปูประเด็นดังกล่าวในช่วงแรก แต่เมื่อดำเนินผ่านไป ประเด็นดังกล่าวก็ค่อย ๆ เลือนหายไปท่ามกลางเขม่าดินปืนและคาวเลือด
ซัพพล็อตที่บทสร้างขึ้นมา มีหลายส่วนที่ไม่จำเป็น และทำให้โครงเรื่องหลักถูกลดความสำคัญลงไป ไม่ว่าจะเป็นปมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก ความสัมพันธ์ระหว่างสหายเก่าในสงคราม และความสัมพันธ์ระหว่างเบนนิ่งกับประธานาธิบดี การแตะส่วนนั้นที ส่วนนี้ที ทำให้การเล่าเรื่องของหนังขาดพลังลงไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนั้น การคลายปมในช่วงท้ายยังเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และรวดเร็ว จนทำให้การผูกปมความขัดแย้งและความกระเสือกกระสนของเบนนิ่นในฐานะเทวดาตกสวรรค์นั้นไม่สมกับชื่อหนังมากเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่หนังสามารถเลือกที่จะเล่าถึงการปีนป่ายจากจุดตกต่ำสุดในชีวิตของวีรบุรุษ จนขึ้นมายืนหยัดบนยอดเขาโอลิมปัสอีกครั้งได้ด้วยการพิสูจน์ในความปรารถนาดีต่อประโยชน์สาธารณะของตนเอง แต่หนังก็เลือกที่คลี่คลายปมต่าง ๆ อย่างเร่งรีบราวกับไม่ใส่ใจ และปล่อยให้ผู้ชมอยู่กับฉากแอ็กชั่นนาน ๆ เพื่อให้พวกเขาได้รับในสิ่งที่ซื้อตั๋วหนังมาดู
อย่างที่กล่าวไป Angel Has Fallen ไม่ใช่หนังที่จะเข้ามาดูเพื่อเก็บรายละเอียด จับผิด หรือต้องการสารที่ยิ่งใหญ่ แต่นอกจากความสนุกเร้าใจแล้ว หนังยังสามารถไปได้ไกลกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อมีนักแสดงอย่าง Morgan Freeman ที่แม้จะมีบทบาทน้อย แต่ก็ยังทรงพลังเหมือนเดิม หากจะนึกถึงหนังเรื่องนี้ในอนาคต เราคงไม่นึกถึงฉากต่อสู้ ระเบิดภูเขาเผากระท่อม แต่คงนึกถึงฉากที่ ปธน. พูดกับแบนนิ่งว่าเมื่อเขาเลือกที่จะมาเป็น ปธน. เขาตระหนักดีว่าเมื่อมาอยู่ในจุดนี้ก็อาจถูกถ่มน้ำลายใส่ ถูกหักหลัง เพราะฉะนั้น การมีคนที่สามารถไว้ใจได้ หรือเพื่อนที่สามารถฝากชีวิตได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งนี้สะท้อนว่าไม่ว่าผู้นำหรือใครจะอยู่สูงแค่ไหน แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ใช่เทวดา ยังต้องการมิตรภาพจากคนเล็ก ๆ ที่สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้
จึงเป็นอุทาหรณ์สอนใจพวกเราที่วันหนึ่งอาจจะได้เป็นผู้นำในองค์กรหรือภาครัฐได้เป็นอย่างดี
ยิ่งสูงยิ่งหนาว ยิ่งใหญ่ยิ่ง ยิ่งโดดเดี่ยว
เมื่อถึงเวลานั้น จึงจะตระหนักว่า
มิตรภาพ
เป็นสิ่งหาได้ยากยิ่งกว่าเงินทองและชื่อเสียง