เสฏฐวุฒิ อุดาการ
สามสิ่งที่ผมชอบมากที่สุดเกี่ยวกับไตรภาค “ขุนพันธ์” คือ 1) นักแสดง 2) การกำกับภาพ และ 3) ดนตรีประกอบ (Original Score) กล่าวโดยสรุป ไตรภาคขุนพันธ์ตอบโจทย์ที่ทำยากที่สุดข้อหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย นั่นคือ จะทำหนังอย่างไรไม่ให้ดูถูกคนดู?
กล่าวโดยไม่อ้อมค้อม การเข้ามาของอุตสาหกรรม Streaming เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่ “มีของ” แต่ติดกับดักของการทำหนังที่ “ขายได้” หรือ “ถูกปาก” รสนิยมดูหนังของคนไทย ซึ่งกล่าวแบบนี้อาจฟังดูเหมือนการเหยียดหรือเหมารวม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังไทยที่ทำเงินเกินร้อยล้านในห้วงที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่วงเวียนอยู่กับหนังตลก หนังผี และหนังตระกูลเดิม ๆ ของผู้กำกับบางคน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ก็ทำให้ผู้กำกับหนังคุณภาพหลายคน ค่อย ๆ หายไปจากยุทธภพทีละคน ๆ
การกลับมาของขุนพันธ์ 3 ในชื่อตอน “วันพิพากษา” ยังคงเป็นหนังไทยที่ดูสนุกมากเรื่องหนึ่ง กล่าวได้เลยว่าเป็น Guilty Pleasure แบบเดียวกับหนังที่ตอนนี้กลายมาเป็นหนัง Cult อย่าง Tremors หรือ Starship Troopers ส่วนสำคัญต้องยกนิ้วให้กับผู้กำกับ คุณก้องเกียรติ โขมศิริ และทีมงานทุกคน ตั้งแต่ Costume ทีมจัดหา Location ไปจนถึงทีมเขียนบทที่สามารถแก้ปัญหาทางศีลธรรมได้ดี เช่น เรารู้ว่าตำรวจชั่ว แต่ในหนังไทยตำรวจจะฆ่าตำรวจไม่ได้ จึงสร้างศัตรูใหม่เป็นผีดิบ จระเข้ หรือใช้โจรปราบโจรแทน ซึ่งเป็นทางออกทางศีลธรรที่ชาญฉลาดบนพื้นฐานของการสร้างหนังบนสังคมไทยที่ซับซ้อนและมีข้อจำกัด
ที่ต้องปรบมือให้ดัง ๆ คือ ดนตรีประกอบของคุณเทิดศักดิ์ จันทร์ปาน ที่เปรียบได้กับ John Williams ของไตรภาคขุนพันธ์ การสร้าง Theme ของขุนพันธ์ที่ติดหูมีส่วนสำคัญในการสร้างตัวละคนให้น่าจดจดและเอาใจช่วย แต่แทนที่คุณเทิดศักดิ์จะทำ Original Score ออกมาขาย ซึ่งผมเชื่อว่ามีกลุ่มลูกค้าไม่น้อย ท่านกลับปล่อยให้ฟังฟรี ๆ บน YouTube สุดยอดไปเลยครับ
สำหรับเนื้อเรื่องของขุนพันธ์ 3 กล่าวแบบตรงไปตรงมา คือ ดำเนินตามสูตรสำเร็จของทั้งสองภาคที่ผ่านมาทุกประการ คือ ขุนพันธ์ได้รับภารกิจไปปราบเสือร้าย โดนหักหลังจากคนที่ไว้ใจ ต้องเอาตัวรอดจากความตายอย่างหวุดหวิด สุดท้ายก็ได้รับความช่วยเหลือจากอดีตศัตรูจนมีชัยเหนือตัวแทนของรัฐที่บิดเบี้ยวในที่สุด
แต่กระนั้นเลย หากสูตรสำเร็จทำได้สนุก แล้วไฉนจะต้องเปลี่ยน ไม่ต่างจากสูตรสำเร็จในหนัง James Bond 007 ที่ดำเนินเรื่องตามสูตรแบบเดียวกันทุกภาค เปลี่ยนแค่นักแสดง บริบท สาวบอนด์ และภารกิจเท่านั้น แต่ก็ยังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ส่วนบางฉากที่ดูคล้ายจะลอกหรือคารวะหนังบางเรื่อง เช่น ตัวละครจากชุมเสือดำที่เหมือนตัวละครจาก Live and Let Die ก็ต้องบอกว่าในวงการศิลปะ Originality ไม่เคยมีจริง มีการหยิบยืมไอเดียไปใช้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้แล้วโดนหรือแป๊กเท่านั้นเอง ซึ่งขุนพันธ์ 3 ทำได้ค่อนข้างดี และสนุกจนอยากดูซ้ำอีกรอบ
สุดท้ายนี้ ต้องขอบคุณผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานทุกคนที่ทำให้ไตรภาคขุนพันธ์เป็นหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุดเท่าที่เคยดูมา ไม่ใช่ในทางคุณค่าแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิตหรือนวัตกรรมใหม่แก่โลกภาพยนตร์ แต่เป็นหนังที่หยิบยกบุคคลในประวัติศาสตร์มาแต่งเติมและเขียนขึ้นมาตามจินตนาการ เป็นเหมือนกับนิยายยุคพนมเทียนที่ทำให้คนอ่านอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง และสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างสังคมที่ดีมีอุปสรรคมากมาย แต่มันก็ไม่ช่วยอะไรเลย ถ้าเรามัวแต่นั่งบ่นหรือปล่อยให้คนอื่นทำหน้าที่ เพราะท้ายที่สุดก็คงถูกกลืนหายไปในประวัติศาสตร์ ไม่มีตัวตนและไม่มีร่องรอยให้จดจำ
สั้น ๆ เลย ขุนพันธ์เป็นหนังไทยที่โครตเท่ มีการกำกับภาพที่ยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบที่ทำให้อยากกลับไปฟังทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจอะไรยาก ๆ ในชีวิต เพราะบางครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับความกลัวและความไม่แน่นอน ก็อยากก้าวออกไปข้างหน้าแล้วพูดกับสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นว่า “ถ้าเอ็งสัญญาว่าจะเลิกเป็นโจร ข้าจะจับเป็นเอ็ง”
ปล.คุณก้องเกียรติ โขมศิริ เป็นผู้กำกับที่มือถึงพอที่จะทำหนังเพชรพระอุมา โดยแบ่งออกเป็นไตรภาค และขอจองตัวผู้พันเบิร์ดให้เป็น พ.ท. ม.ร.ว.เชษฐา วราฤทธิ์ ส่วนจะให้อนันดาหรือดาราพม่าเป็นแงซายก็ย่อมได้ ส่วนพี่น้อย วงพรู เป็นจอมผีดิบมันตรัย เหมาะมาก คุณก้องเกียรติ มีนักแสดงชั้นยอดอยู่แล้ว ถ้าผ่านมาเห็นรีวิวนี้ช่วยพิจารณากำกับงานชั้นครูของท่านพนมเทียนไว้ด้วยเถอะครับ
รีวิว ขุนพันธ์ 2 ตอน ปราบเสือสุพรรณ