เสฏฐวุฒิ อุดาการ
“ข้างล่างนั้นไม่ใช่จุดจบใช่ไหม…”
…
คุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ เป็นนักเขียนบทที่เก่ง
ในวงการหนังไทย มีผู้กำกับที่เก่งกาจอยู่ไม่น้อย
แต่กลับมีมือเขียนบทที่จับหัวใจคนดูได้อยู่หมัดน้อยยิ่ง
คุณมะเดี่ยวเป็นหนึ่งในนั้น
นับตั้งแต่ ’13 เกมสยอง’ ‘รักแห่งสยาม’ ‘Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ’ มาจนถึง ‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ หนังของคุณมะเดี่ยวเป็นหนึ่งในหนังไทยจำนวนน้อยนิดที่ให้ความสำคัญกับพล็อตและธีมมากกว่าการขายฉากตลกโปกฮา ฉากเสียวไส้น่าสะพรึง ฉากผีหลอกตุ้งแช่ หรือฉากเลิฟซีนวาบหวิว
หากเปรียบหนังของคุณมะเดี่ยวเป็นงานวรรณกรรมก็คงเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวหรือนวนิยายขนาดสั้นที่มีจังหวะจะโคนในการเล่า มีสไตล์การนำเสนอ การจัดวางลำดับเหตุการณ์ที่พาตัวละครเข้าสู่ปมขัดแย้ง ห้วงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร หรือกล่าวได้ว่าหนังของคุณมะเดี่ยวคือหนังที่ใช้ตัวละครเป็นหัวใจและศูนย์กลางของเรื่องจริง ๆ และหนังทั้งเรื่องคือการสำรวจจิตใจและช่วงชีวิตของตัวละครที่เคลื่อนจากจุดขัดแย้งไปสู่บทสรุป
เป็นหนังในแบบที่ควรจะเป็นจริง ๆ น่าเสียดายที่หนังไทยน้อยเรื่องที่เป็นเช่นนั้น สาเหตุหนึ่งคือการขาดมือเขียนบทอาชีพที่มีประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ แต่ทำยังไงได้ ในเมื่อไม่มีใครที่สามารถดำรงชีพด้วยการเขียนบทอย่างเดียวใน ‘อุตสาหกรรม’ หนังไทย เมื่อมีนักเขียนบทมากความสามารถ แต่ไม่มีงานรองรับก็ย่อมไม่อาจพัฒนาบทหนังดี ๆ ได้
ลิงก์ผู้สนับสนุน
‘ดิว…ไปด้วยกันนะ’ เปรียบได้ดั่งจดหมายที่ผู้กำกับเขียนถึงวัยเยาว์ของตนเอง หนังมีลายเซ็นของยุค 90s แฝงฝังไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเพลง โปสเตอร์นักร้อง หนัง ตู้สติกเกอร์ ภาพสามมิติ อัลบั้มรูปถ่ายที่หน้าปกเป็นรูปพี่เบิร์ด ธงไชย หรือแม้กระทั่งเพจเจอร์และตู้โทรศัพท์ (ที่ยังใช้งานได้อยู่) ดีที่ไม่มีฉากที่ตัวเอกต้องไปต่อคิวใช้โทรศัพท์มือถือแบบตั้งโต๊ะ!
จากตัวอย่างหนัง หลายคนก็น่าจะพอทราบว่าหนังเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวความรัก LGBT ของเด็กวัยรุ่นสองคนคือ ‘ดิว’ และ ‘ภพ’ ที่เกิดขึ้นในชุมชนปางน้อย (สถานที่สมมติถ่ายทำที่ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่) แน่นอนว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ย่อมมิดำเนินไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าสังคมไทยในยุคนั้นยังไม่ได้เปิดกว้างเหมือนในปัจจุบัน และการกักเก็บและปิดทับอัตลักษณ์ก็ยังเป็นสิ่งที่หลายคนเลือกเพื่อที่จะดำรงในสังคมได้อย่าง ‘ปกติ’
‘การเลือก’ นี่เองที่เป็นจุดหักเหในชีวิตของตัวละครและนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่สร้างรอยแผลในชีวิตของตัวละคร และเป็นแรงขับเคลื่อนองก์หลังของหนังที่ฉายให้เห็นภาพความรวดร้าว ความรู้สึกผิด และความปรารถนาที่จะแก้ไขอดีตที่ไม่อาจเป็นจริงได้ และเมื่อมีโอกาสอีกครั้ง ตัวละครก็ไม่ลังเลที่จะทุ่มเททุกอย่างในชีวิต เพียงเพื่อให้ได้ฉกฉวยวันวารที่ล่วงเลยไปให้กลับมาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปอีกครั้ง
ดิว…ไปด้วยกันนะ ไม่ได้เป็นหนังที่ทำให้คนดู ‘เข้าใจ’ มากเท่ากับ ‘รู้สึก’
รู้สึกถึงห้วงอารมณ์อึดอัดของตัวละคร ราวมีปราการที่มองไม่เห็นขวางกั้นเส้นทางของความรู้สึก ไม่ให้ไหลไปสู่แห่งที่ใจปรารถนา จุดเด่นของหนังเรื่องนี้อีกประการหนึ่ง คือ การใช้วัตถุ สถานที่ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในการเล่าเรื่องเชื่อมโยงเข้ากับความรู้สึกและห้วงภายในของตัวละคร
วัตถุอย่างภาพสามมิติ การแปลบทเพลงเป็นภาษาอังกฤษในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต รอยขีดเขียนบนประตูและโต๊ะเรียน ผาแดงที่สวยงาม แต่เต็มไปด้วยความเวิ้งว้าง หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เหมือนจะน่ารัก แต่เต็มไปด้วยข่าวฉาวและการนินทาที่รู้ถึงกันหมด ทางแยกสองแพร่ง ม้านั่งที่หันเข้าหาภูเขาและสายน้ำ ทวิลักษณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นสภาวะสองจิตสองใจ อิหลักอิเหลื่อของตัวละครที่ต้องเลือกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
และทุกการเลือกย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์เสมอ
ดิว…ไปด้วยกันนะ เป็นหนังที่ทุกบทสนทนามีความหมาย เราไม่รู้สึกว่ามีคำพูดไหนที่ถูกยัดเยียดเข้ามาอย่างผิดที่ผิดทาง เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณมะเดี่ยวเป็นนักเขียนที่ดี มีจังหวะจะโคนในการแช่บางฉาก และตัดไว้ในฐานะที่เข้าใจ ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่ามีฉากไหนที่ล้นหรือน้อยเกินไป จะมีก็แต่เงื่อนไขบางประการที่ทำให้ทิศทางของหนังไม่มีอิสระมากเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นหนังกึ่งรีเมคจากหนังเกาหลีเรื่อง Bungee Jumping of Their Own ซึ่งก็นับว่าน่าเสียดายเล็กน้อย เพราะหากให้คุณมะเดี่ยวเขียนเรื่องราวทั้งหมด เราคงได้หนังสไตล์มะเดี่ยวอีกเรื่องหนึ่งที่จะมีผู้จดจำในระดับเดียวกันกับรักแห่งสยาม ซึ่งแม้ว่าจะมีคนนึกถึงความรักแบบ LGBT แต่นั่นคือหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ดีที่สุดเท่าที่หนังไทยเคยทำมา
ถ้าถามว่าให้คะแนนความพึงพอใจเท่าไหร่ สำหรับ ดิว…ไปด้วยกันนะ เราก็คงต้องบอกว่าเราให้ไม่ได้ เพราะจะดูลำเอียง เพราะเราชอบสไตล์การกำกับและเขียนบทหนังของคุณมะเดี่ยว
เรื่องสั้นหลายเรื่องที่เคยเขียนขึ้น โดยเฉพาะจรวดกระดาษ วัยเยาว์ ความฝัน ในรวมเรื่องสั้น จรวดกระดาษกลางสายฝน ก็เขียนขึ้นโดยคิดภาพในใจว่าถ้าคุณมะเดี่ยวหรือ Shunji Iwai กำกับมันจะออกมาในรูปแบบใด แต่สิ่งที่ชอบในหนังเรื่องนี้ คือ บทหนังและการแสดงของตัวละครที่เรารู้สึกได้ถึงความใส่ใจ มีหลายฉากที่ทำให้อดยิ้มไม่ได้ เพราะหนังดำเนินเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ในเชียงใหม่กับดินแดนรอยต่อกับเชียงราย เราจึงได้เห็นชีวิตของนักเรียนต่างจังหวัดในยุคที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ การนั่งชิว ๆ อยู่ริมถนน ขี่รถเครื่องไปนั่นไปนี่ ผักในเซเว่นที่เหมือนเศษเสี้ยวความทรงจำที่ถูกกลืนหายไป ตลอดจนรายละเอียดของยุค 90s ต่าง ๆ ที่บรรจงใส่มาที่ละนิดทีละน้อย จะเรียกได้ว่าเป็นการรำลึกถึงวัยเยาว์ของหลายคน รวมทั้งเราด้วยก็คงไม่ผิด แม้ว่าหนังจะพาคนดูไปสู่บทสรุปที่หลายคนอาจจะตั้งคำถาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าหนังจบลงอย่างไร แต่อยู่สารที่หนังบอกกับพวกเราว่า จงให้เวลากับคนใกล้ชิดให้มาก ๆ ก่อนที่มันจะสายเกินไป
ดิว…ไปด้วยกันนะ เป็นหนังที่ต้องดูด้วย ‘ความรู้สึก’
เพราะสิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา เหมือนภาพสามมิติที่ต้องซ่อนเร้นความจริงไว้
จนกว่าจะถึงเวลาที่สังคมเปิดใจและยอมรับในตัวตนและอัตลักษณ์เหล่านั้น
ในยุคก่อนดอกไม้จะผลิบาน
โลกก็ช่างโหดร้ายสำหรับใครหลายคนมากเหลือเกิน