10 บทเรียนภาวะผู้นำจาก “Leadership” ของ Henry Kissinger

เสฏฐวุฒิ อุดาการ

Henry Kissinger ในวัย 99 ปี ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง กล่าวกันว่าการทำงานในวัยเกษียณจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความจำเสื่อมหรือซึมเศร้าได้ ซึ่ง Kissinger ที่แม้สภาพร่างกายจะร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงรักษามุมมองความคิดที่เฉียบแหลม และความทรงจำที่ในตัวมันเองแทบจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ได้อย่างดีเยี่ยม อันเป็นผลดีต่อคนรุ่นหลังที่จะได้อาศัยเป็น “คนแคระบนบ่ายักษ์” ทำความเข้าใจความคิดทางการเมืองของ Kissinger ต่อปรากฏการณ์ระหว่างประเทศ และที่สำคัญเหนืออื่นใด คือ การทำความเข้าใจ “มนุษย์” ซึ่งเป็นหัวใจของทุกสิ่งทุกอย่างในมุมมองของ Classical Realism เสมอมา

Leadership หนังสือเล่มล่าสุดของ Kissinger เป็นการศึกษาบุคคลที่ Kissinger วิเคราะห์แล้วว่าเป็น “มนุษย์พันธุ์พิเศษ” ที่มีบุคลิกภาพ ความคิดทางการเมือง และคุณลักษณะของผู้นำตามมุมมองของเขา ประกอบด้วย 1) Konrad Adenauer 2) Charles de Gaulle 3) Richard Nixon 4) Anwar Sadat 5) Lee Kuan Yew และ 6) Margaret Thatcher

 

หลังจากใช้เวลานานกว่าสามเดือนในการอ่าน Leadership การเดินทางบนตัวอักษรระหว่างผมกับ Kissinger ก็จบลงอีกครั้ง หลังจากที่ อ.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้มอบหมายให้ศึกษาระเบียบระหว่างประเทศในมุมมองของ Kissinger ใน A World Restored เมื่อหลายปีก่อน ผมก็ไม่เคยใช้เวลาอ่านงานของ Kissinger ละเอียดมากเท่านี้ อาจเป็นเพราะต้องการสกัดบทเรียนที่นำมาใช้กับชีวิตการทำงานได้ จึงอยากใช้พื้นที่ตรงนี้บันทึกบทเรียนภาวะผู้นำที่ได้รับจากหนังสือ Leadership ไว้คอยเตือนตนเอง และเผื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่แวะเวียนผ่านเข้ามาอ่านบทความนี้ครับ

 

ปล.บทเรียนภาวะผู้นำทั้ง 10 ประการนี้เป็นการตีความของผมเอง หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

1.ผู้นำต้องอ่อนน้อมถ่อมตน

มุมมองต่อภาวะผู้นำข้อนี้ของ Kissinger อาจจะสวนทางกับค่านิยมแบบทุนนิยมตะวันตกที่แนะนำผู้คนว่า “มีดีต้องโชว์” หรือการทุ่มเทสร้างบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่ Kissinger ได้อ้างคำพูดของ Konrad Adenauer เมื่อถูกถามว่าเขาอยากจะถูกจดจำอย่างไร ซึ่ง Adenauer ตอบว่า “เขาได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว” อันสะท้อนว่าผู้นำอาจจะไม่จำเป็นต้องทำตัวโดดเด่น เป็นที่รู้จักหรือได้รับความนิยมจากคนจำนวนมาก แต่เขาอาจทำงานอย่างเงียบ ๆ อยู่เบื้องหลังเพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปเป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรือประเทศชาติ และในวันที่ต้องจากลา ก็สามารถพูดกับตัวเองได้ว่าเขาเป็นผู้นำที่ได้ทำภารกิจลุล่วงสำเร็จดั่งความตั้งใจแล้วนั่นเอง

 

2.ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ

Kissinger ชื่นชมความกล้าตัดสินใจตามสัญชาตญาณของ Charles de Gaulle ซึ่งเป็นผู้นำในภาวะสงคราม แม้การตัดสินใจหลายครั้งจะดูเป็นการปลิดชีพตนเองในทางการเมือง แต่ De Gaulle ก็ไม่ได้สนใจต่อการล้อเลียนถากถางจากฝ่ายตรงข้าม และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่เขาคิดว่าจะช่วยให้ฝรั่งเศสกลับมายืนอยู่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อไป การเป็นผู้นำย่อมเผชิญกับการตัดสินใจที่ไม่ว่าจะเลือกทางใดย่อมมีผลกระทบตามมาเสมอ แต่ภาวะผู้นำในทัศนะของ Kissinger คือการกล้าตัดสินใจตามสัญชาตญาณของตนเอง และยืดอกยอมรับกับผลกระทบของมัน โดยเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ดั่งคติโรมันโบราณที่กล่าวว่า “โชคชะตามักจะเข้าข้างผู้กล้า” (Fortune favors the brave)

 

3.ผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง

De Gaulle เป็นผู้นำทางทหารที่ดุดันและแข็งกร้าว ดังนั้น ศาสตร์แห่งความอยู่รอดของรัฐ (statecraft) ของเขาจึงไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ Kissinger มองว่าแบบแผนและภาวะการนำของ De Gaulle ถูกถ่ายทอดผ่านการกระทำเป็นแบบอย่าง รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยเหตุนี้ นโยบายต่างประเทศฝรั่งเศสในยุคถัดมาจึงถูกขนานนามว่า ‘Gaullist’ แม้ว่าจะสิ้นผู้นำที่คนฝรั่งเศสเรียกว่า ‘le Général’ ไปแล้วก็ตาม ในองค์กรสมัยใหม่ มีการสอนในคลาสภาวะผู้นำและตำรา How-to มากมายว่าผู้นำควรจะกระทำเป็นแบบอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ความจริงแล้ว การกระทำเป็นแบบอย่างในทัศนะของ Kissinger ไม่น่าจะหมายถึง การประกาศลดเงินเดือนตัวเอง หรือการประหยัดพลังงานแบบผิวเผิน แต่น่าจะหมายถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ค่านิยม หรือแบบธรรมเนียมที่จะดำรงอยู่แม้ผู้นำจะเกษียณหรือจากไปแล้วก็ตาม ซึ่งผมคิดว่าการตัดสินคนด้วยผลงาน ก็น่าจะเข้าข่ายกรณีนี้ด้วยเช่นกัน

 

4.ผู้นำต้องรักษาความลับ

 “หากปราศจากความลับ คงไม่มีการเปิดความสัมพันธ์กับจีน การทำความตกลง SALT กับสหภาพโซเวียต และความตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามเวียดนาม” Kissinger อ้างคำพูดของ Richard Nixon ผู้เป็นทั้งอดีตผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ในโลกการเมืองของเขา แม้ Nixon จะเป็นผู้นำที่ไม่ใกล้เคียงกับนิยามของธรรมาภิบาลเท่าใดนัก แต่ Kissinger มองว่าการดำเนินการทูตทางลับ (Backdoor diplomacy) ในสมัย Nixon ได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมากต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของผู้นำที่รู้จักเครื่องมือที่หลากหลายในทางการเมือง และสามารถรักษาความลับได้โดยไม่แพร่งพรายให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่อหวังสร้างผลงานหรือเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชน จนกระทั่งภารกิจสำเร็จลุล่วงในที่สุด หากมองในมิติหนึ่ง Nixon ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้นำที่ทำงานปิดทองหลังพระ แม้ชีวิตทางการเมืองจะปิดฉากลงอย่างไม่งดงามนัก แต่วิธีทางการทูตในสมัยของเขาก็ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

5.ผู้นำต้องยืดหยุ่นและเปิดกว้าง

Kissinger มองว่าภูมิทัศน์ระหว่างประเทศได้หวนคืนสู่ยุคที่ Nixon ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่ ๆ ดังนั้น โลกอาจจะต้องพึ่งพาผู้นำที่ใจกว้างพอที่จะทำความเข้าใจกับผลประโยชน์แห่งชาติที่แต่ละรัฐมีแตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างช่องทางเจรจาทั้งทางเปิดและทางลับ เพื่อร่วมตกลงในสาระสำคัญของ “ความชอบธรรมร่วมกัน” (Shared Legitimacy) ที่จะช่วยค้ำจุนเสถียรภาพในระบบระหว่างประเทศและป้องกันสงครามใหญ่ ความยืดหยุ่นของผู้นำนี้ยังรวมถึงการมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการใส่ใจในรายละเอียดทั้งประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และวัฒนธรรมของรัฐต่าง ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผมก็เชื่อว่าเมื่อเวลาเหมาะสม เทพีแห่งโชคชะตาจะส่งเจ้าชายเมตเตอร์นิคแห่งศตวรรษที่ 21 มากอบกู้โลกในท้ายที่สุด เพียงแต่คราวนี้อาจจะไม่ได้มาจากยุโรปอีกต่อไปแล้ว

                     

6.ผู้นำต้องรู้จักประนีประนอม

Kissinger กล่าวชื่นชม Anwar Sadat อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจข้อได้เปรียบ-ข้อจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์ของอียิปต์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการตัดสินใจวางบทบาทของอียิปต์ในฐานะรัฐผู้รักสันติที่สามารถเชื่อมต่อกับรัฐอื่น ๆ ได้โดยไม่ทะเยอทะยานในการครอบงำรัฐที่ด้อยกว่า และในทางกลับกันก็ไม่อ่อนแอจนเสี่ยงต่อการถูกรุกรานโดยรัฐอื่น ผลงานสำคัญของ Sadat คือการทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล เพราะเข้าใจว่ามุมมองแบบการเอาชนะฝ่ายเดียว (Zero-sum mindset) ไม่ตอบโจทย์ผลประโยชน์แห่งชาติของอียิปต์ ต่างจากการประนีประนอมกับอิสราเอลซึ่งเป็นเหมือนกับก้าวแรกของการประนีประนอมระหว่างอิสราเอลกับโลกอาหรับที่ยังส่งต่อพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน การรู้จักประนีประนอมจึงเป็นคุณสมบัติของผู้นำในโลกที่สมการ Winner takes all อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งมากกว่าการที่ทุกฝ่ายสมประโยชน์กันแบบ Win-win strategy

7.ผู้นำต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

 ผู้นำอย่าง Lee Kuan Yew เป็นผู้นำที่ Kissinger ยกย่องให้เป็นผู้นำที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการนำประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ ไม่ใช่เพียงแค่อยู่รอดในสภาวะระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ยังก้าวไปอยู่แนวหน้าในภูมิภาคอีกด้วย Kissinger เล่าว่าเมื่อปี 1968 Lee Kuan Yew ได้เดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและได้แลกเปลี่ยนกับคณาจารย์และนักศึกษาด้านรัฐศาสตร์ โดยระบุว่าเขาต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากช่วงวิกฤติที่ผ่านมา เขาขาดการแวดวงวิชาการไปนาน จึงตามไม่ทัน นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่าสิงคโปร์ไม่มีทั้งน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ แต่มีทรัพยากรสำคัญเพียงอย่างเดียว คือ “คุณภาพของประชาชน” ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์ในวิสัยทัศน์ของ Lee Kuan Yew จึงต้องเป็นประเทศชั้นนำด้านการศึกษา และขีดความสามารถของชาวสิงคโปร์ก็ยังเป็นที่ยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้ บางครั้งผู้นำไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องตอบได้ทุกคำถาม แต่ผู้นำควรต้องหมั่นเรียนรู้และอัพเดตฐานข้อมูลตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิธีแก้ไขปัญหาเดิม ๆ อาจจะใช้ไม่ได้ผลลัพธ์เหมือนในอดีต ผู้นำจึงต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น การเดินทางไปพบปะคนรุ่นใหม่ของ Lee Kuan Yew หรือการพบปะสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลหลากหลายวงการ ซึ่งนอกจากจะทำให้ตามโลกทันแล้ว ยังทำให้อายุยืนและรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองอีกด้วย

 

8.ผู้นำต้องยอมรับว่าตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ

สำหรับ Margaret Thatcher “การทำสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย” การดำเนินนโยบายหลายครั้ง ต้องอาศัยความกล้าอย่างยิ่งยวด นั่นคือความกล้าที่จะเสียหน้า กล้าที่จะล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวิถีมนุษย์ซึ่งมีความผิดพลาดเป็นองค์ประกอบ ผู้ที่ไม่ผิดพลาดคือผู้ไม่ทำสิ่งใดเลย นอกจากนี้ ผู้นำต้องยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง เพราะไม่มีใครหรือสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบ ผู้นำต้องตัดสินใจภายใต้ข้อจำกัดมากมาย เพื่อให้ได้ข้อสรุปจากข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานั้น โดยตั้งอยู่บนฐานของประโยชน์แห่งชาติหรือองค์กรของตนเอง

 

9.ผู้นำต้องเป็นนักฝัน 

Kissinger the Idealist มองว่าผู้นำจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ตามด้วยการตั้งเป้าหมายไปสู่สิ่งที่ดียิ่งขึ้น เป็นความฝันร่วมกันที่จะกลายเป็นจริงหรือไม่นั้น ผู้นำต้องเป็นผู้ประคับประคองประเทศหรือองค์กรไปสู่เป้าหมายนั้น แม้ว่าอาจจะใช้เวลายาวนานหรือไม่สำเร็จในวาระของผู้นำก็ตาม 

 

10.ผู้นำต้องเป็นนักปฏิบัติ

Kissinger the Realist มองว่าผู้นำต้องเข้าใจสภาพจริงของบริบทแวดล้อม และสภาพปัญหา ต้องมองให้เห็นข้อจำกัดและความเป็นไปได้ทุกประการ เพื่อประเมินวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา หรือรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติหรือองค์กร ผู้นำที่ลงมือทำจะพบเจอกับอุปสรรคที่อาจใช้ปรับปรุงแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป ผู้นำที่เป็นนักปฏิบัติอาจไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศภารกิจของตนเอง แต่ปล่อยให้ผลงานเป็นหลักฐานแสดงความสำเร็จแทน