[รีวิว] ลิงหินและเรื่องสั้นอื่น ๆ – ภาณุ ตรัยเวช

[รีวิว] ลิงหินและเรื่องสั้นอื่น ๆ – ภาณุ ตรัยเวช

[รีวิว] ลิงหินและเรื่องสั้นอื่น ๆ – ภาณุ ตรัยเวช

เสฏฐวุฒิ อุดาการ

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าเราได้ยินชื่อ ภาณุ ตรัยเวช มาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ

ตอนนั้นงานเด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์ของเขาได้ชิงรางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยาย

น่าจะเป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้เข้าชิงในยุคนั้น หากจำไม่ผิด

เรียกได้ว่าเป็นไอดอลสำหรับเด็กที่อยากเป็นนักเขียนและยังทันยุคที่ต้องส่งต้นฉบับทางไปรษณีย์พร้อมกับซองจดหมายจ่าหน้าซองถึงตัวเอง

เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี เราได้กลับมาอ่านงานของภาณุ ตรัยเวช อีกครั้ง ความรู้สึกในวัยเด็กเมื่อครั้งนั้นก็หวนกลับมาอีกครั้ง

นั่นคือความรู้สึกทึ่ง ชื่นชม และซาบซึ้งในความรักในวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้

หากกล่าวว่ารวมเรื่องสั้น ‘ลิงหินและเรื่องสั้นอื่น ๆ’ มีจุดเด่นอะไรที่จะทำให้งานชิ้นนี้พาภาณุไปถึงซีไรต์ในท้ายที่สุด

เราก็คงตอบได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีเสียงพูดของตนเองในการสื่อสารกับวรรณกรรมและงานศิลปะแขนงอื่น ๆ

มี ‘สัมพันธบท’ ที่เชื่อมโยงร้อยเรียงเรื่องราว และตัวละครจากวรรณกรรมไทยและเทศเข้าด้วยกัน

หากกล่าวว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นงานที่เขียนขึ้นด้วย ‘ความรัก’ ก็คงไม่ผิดนัก

มิใช่ความรักเชิงชู้สาว แต่เป็นจดหมายรักถึงวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และงานศิลปะที่หล่อหลอมตัวตนของภาณุ ตรัยเวช คนนี้ขึ้นมา

แม้ว่าจะมีเรื่องสั้นบางเรื่องอย่าง ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ ที่เสียดเย้ยวัฒนธรรมการเชิดชูผู้มีอำนาจ (ทางวัฒนธรรม) ของสังคมไทย โดยนำนักเขียนและบรรณาธิการระดับบิ๊กเนมในแวดวงวรรณกรรมไทยมาเป็นตัวละคร แต่ก็สะท้อนให้ประจักษ์ว่าแม้ว่าเห็นถึงความพิลึกพิลั่นและลักลั่นของวงการนี้เพียงใด แต่นี่ก็คือวงการที่ผู้เขียนหลงรักและหลงใหลอย่างหมดหัวใจ

เช่นเดียวกับเรื่องสั้นอีกหลายเรื่องที่หยิบยืมและยกย่องตัวละครจากวรรณกรรมชั้นเอกของโลกอย่าง The Tempest และ A Midnight Summer’s Dream ของท่านเขย่าหอก หรือตัวละครจากปลายปากกาตำนานเรื่องลี้ลับของไทย เหม เวชกร ตลอดจน ‘ท่านเจ้าบ้าน’ ที่ผู้เขียนเทิดทูนและยกย่องให้เป็นนักเขียนไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

สำหรับเรา มีเรื่องสั้นหลายเรื่องใน ‘ลิงหิน’ ที่ชอบและเพลิดเพลินใจในการอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เว้นเสียก็แต่เรื่อง ‘ตั้งแต่คอลงมา’ ที่อะไรดลบันดาลให้อ่านตอนตีสอง บรรยากาศชวนให้นึกถึง Children of Corn ผสม MidSommar อย่างไงอย่างงั้น แต่ก็มีอยู่สองเรื่องที่ค่อนข้างชอบมาก และได้นำกลับมานั่งขบคิดภายหลังจากที่อ่านจบแล้ว นั่นคือ เรื่อง ‘เกมกลคนอัจฉริยะ’ กับ ‘น้ำพุแห่งวัยเยาว์’ ที่เรารู้สึกถึงความเชื่อมโยงบางอย่าง และค่อนข้างสอดรับกับห้วงอารมณ์ของตนเองในปัจจุบัน ที่ตั้งคำถามกับตัวตนและความรู้สึกนึกคิดของตนเอง

เรื่องสั้นทั้งสองพูดถึงการแสวงหาคำตอบของชีวิตเหมือนกัน ในขณะที่ ‘เกมกลคนอัจฉริยะ’ ที่ไม่สามารถไขความลับของ ‘ปริศนาชิ้นสุดท้าย’ ได้ กระทั่งได้พบกับผู้ออกแบบปริศนาชิ้นนั้นอีกครั้งหลังจากเติบโตและผ่านพ้นเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตมา คำตอบของคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ซื่อสัตย์กับตนเองใน ‘น้ำพุแห่งวัยเยาว์’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ชวนให้ผู้อ่านได้หันกลับมาสำรวจตัวตนว่าแท้จริงแล้ว การใช้ชีวิตที่ซื่อสัตย์กับตนเอง และคำตอบของปริศนาสุดท้ายในชีวิตของเราเองนั่นคืออะไรกันแน่

เพราะบางครั้ง หนทางสู่การหาคำตอบ อาจจะไม่ได้อยู่ที่การก้าวต่อไปเรื่อย ๆ ราวกับไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

แต่อยู่ที่การรวบรวมความกล้าตัดสินใจกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่ก้าวแรก จุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง

เพราะสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้กระทั่งลิงหิน ไม่ได้อยู่ความสามารถในการใช้ภาษาและเหตุผลเท่านั้น

แต่อยู่ที่สำนึกทางเวลา และการย้อนกลับมา Restart ชีวิตให้ดีกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

16 มีน 2563

 

รวมเรื่องสั้น ลิงหินและเรื่องสั้นอื่น ๆ

ผู้เขียน ภาณุ ตรัยเวช

สำนักพิมพ์มติชน

พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2563

ราคา 245 บาท

สามารถสั่งซื้อได้ที่ Matichonbook.com