เสฏฐวุฒิ อุดาการ
วรรณกรรมรหัสคดีทุกเรื่อง เมื่อดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ก็ถึงคราวที่ตัวเอกจะต้องเจอกับ ArchNemesis หรือคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อ
Sherlock Holmes มี Professor James Moriarty
พรานใหญ่รพินทร์ ไพรวัลย์ มีแงซายจอมจักรา
Captain James T. Kirk ก็ยังมี Khan Noonien Singh
หรือแม้แต่ Godzilla ยังมี King Ghidorah
แล้วทำไมนักสืบพุ่มรัก พานสิงห์ จะมีคู่ปรับที่เหนือกว่าในทุกมิติไม่ได้?
คดีฆาตกรรมกุหลาบดำ เป็นงานเขียนเรื่องที่ 9 ในแฟ้มรหัสคดีชุดพุ่มรัก พานสิงห์ ของวินทร์ เลียววาริณ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าปัจจุบันพุ่มรักเดินทางจากรวมเรื่องสั้น ‘ฆาตกรรมกลางทะเล’ (พ.ศ.2546) มาสู่นวนิยาย ‘ฆาตกรรมกุหลาบดำ’ เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว
และยังไม่มีทีท่าว่ารหัสคดีชุดนี้จะถึงบทอวสาน หากว่าผู้เขียนยังมีแรงเขียนต่อไป
น่าเศร้าว่านั่นคือปัญหาอย่างหนึ่งของรหัสคดีชุดนี้
ไม่ได้หมายความว่า ‘ฆาตกรรมกุหลายดำ’ ไม่สนุกหรือตื้นเขินเกินไปแต่อย่างใด
เพราะวินทร์ เลียววาริณ ยังคงรักษามาตรฐานแบบไม่ดูถูกปัญญาผู้อ่านได้อย่างคงเส้นคงวา
แต่ดูเหมือนว่าจังหวะจะโคน อารมณ์ขัน และบทบาทของตัวละครบางตัว ไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนัก
ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์บางเรื่องที่มีปัญหาด้าน Production ที่ติดขัด ใช้เวลายาวนาน ดังที่ผู้เขียนเองสารภาพว่าใช้เวลา 4 – 5 ปีในการเขียน
เมื่ออ่านระหว่างบรรทัดจะทำให้ทราบได้ทันทีว่าบทไหนเขียนขึ้นนานแล้ว หรือบทไหนเพิ่งมาเขียน เพราะปรากฏร่องรอยของโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปของผู้เขียน
จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคืออารมณ์ขันที่เคยเป็นจุดขายของรหัสคดีชุดนี้ แต่มุขตลกบางสไตล์เมื่อนำมาเขียนซ้ำตามแนวทางเดิม ๆ หลาย ๆ เล่มเข้า ก็กลายเป็นน่ารำคาญไป
สารภาพว่าเมื่ออ่านถึงบทขำคราใดก็ต้องข้ามไปย่อหน้าถัดไปเลย เพราะมุขตลกแบบเดิม ๆ ที่ใส่เข้ามาอ่านแล้วทำให้เครียดมากกว่าขำ
แต่เมื่อเทียบกับพล็อตที่ดูจะโดดไปจากรหัสคดีชุดนี้พอสมควร โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรัสเซีย บอลเชวิก สงครามโลก น่าจะทำให้หลายคนนึกถึง ‘ปีกแดง’ นวนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของวินทร์
ก็พอกล่าวได้ว่า ‘ฆาตกรรมกุหลาบดำ’ มีความโดดเด่นมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ในชุดเดียวกัน และมีอะไรหลายอย่างที่น่าจดจำมากกว่า โดยเฉพาะ ‘ตัวร้าย’ ผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกรรมทั้งหมดที่เป็น Real Deal
ไม่ใช่ฆาตกรกิ๊กก๊อกทั่วไปที่ต้องการล้างแค้นหรือหวังเงินทอง แต่เป็นคนที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่านั้น แถมยังไม่ใช่คนธรรมดา (อยากรู้ต้องอ่านเอง)
ในภาพรวม ‘ฆาตกรรมกุหลาบดำ’ เป็นรหัสคดีที่อ่านเพลินดี ไม่ใช่งานที่ลุ่มลึกหรือมีกลวิธีแพรวพราว แต่ก็ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจบจบ เพราะนวนิยายสั้นมาก อ่าน 2 – 3 ชั่วโมงก็จบแล้ว และคิดว่าเป็นหนึ่งในเรื่องโปรดของผมในชุดพุ่มรัก พานสิงห์ ทั้งหมด 9 เล่ม โดยเฉพาะตัวร้ายที่แบกเรื่องไว้โดยที่ตัวพุ่มรักเอง กลายเป็นตัวละครที่น่ารำคาญที่สุดในเล่มและถูกขโมยซีนตลอด
อันนำไปสู่ข้อเสนอที่ผมอยากจะให้วินทร์ เลียววาริณ ลองเขียนรหัสคดีชุดใหม่ที่พ้นไปจากตัวละคนพุ่มรัก อาจจะเกิดขึ้นในจักรวาลเดียวกัน แต่มีโทนที่ดาร์คและจริงจังมากขึ้น เพราะพล็อตและตอนจบแบบปลายเปิดที่วางทิ้งไว้ อาจจะทำให้แฟนหนังสือของเขาได้อ่านนวนิยายรหัสคดีอิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกเล่มหรืออีกชุดหนึ่งเลย โดยไม่ต้องเสียเวลาสร้างอารมณ์ขันที่ไม่ขำแต่อย่างใด
มิฉะนั้น จะเป็นการทิ้งตัวละครร้ายที่มีคุณสมบัติเป็น Archnemesis ไปอย่างน่าเสียดายทีเดียว
หนังสือ ฆาตกรรมกุหลาบดำ (พุ่มรัก พานสิงห์ เล่มที่ 9)
ผู้เขียน วินทร์ เลียววาริณ
สำนักพิมพ์ 113
พิมพ์ครั้งแรก มิ.ย. 2563
สั่งซื้อได้ที่ www.winbookclub.com