เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน
คิสซินเจอร์เขียน A World Restored ขึ้นไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อันเป็นช่วงเวลาของการฟื้นฟูระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามไม่ต่างจากการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนาที่รัฐมหาอำนาจในยุโรปร่วมกันกำหนดแนวทางในการสร้างระเบียบหลังสงครามนโปเลียนเพื่อต่อกรกับกระแสปฏิวัติเสรีนิยมและชาตินิยมที่กำลังถูกโหมกระพือไปทั่วยุโรป
เวลาผ่านไปกว่า 65 ปี นับตั้งแต่คิสซินเจอร์ปิดเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด ระเบียบระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการออกแบบและพิทักษ์รักษากำลังตกอยู่ในสภาวะสั่นคลอนด้วยกระแสชาตินิยมและแรงต่อต้านจากภูมิภาคนิยมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ
การหยิบ A World Restored ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นแรกของตำนานการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ทรงอิทธิพลอย่างคิสซินเจอร์ ขึ้นมาอ่านทบทวนใหม่อาจทำให้เห็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ระเบียบระหว่างประเทศปัจจุบันซึ่งมีเงื่อนไขและปัจจัยหลายประการที่มีความคล้ายคลึงกับระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำประเด็นที่สกัดจากการอ่าน A World Restored จำนวน 4 ประเด็น มาวิเคราะห์ความอลหม่านที่เกิดขึ้นในระเบียบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ เป็นผู้พิทักษ์รักษา ตลอดจนเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนและแตกต่างระหว่างระเบียบปัจจุบันกับระเบียบอนุรักษ์นิยมที่คิสซินเจอร์มองว่าแม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพ และสามารถยับยั้งการเกิดสงครามใหญ่เป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษ
การช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจ : Status Quo VS Revisionist Power
การแข่งขันกันช่วงชิงความเป็นเจ้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทำให้ภูมิรัฐศาสตร์กลับมามีความสำคัญในการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง Graham Allison ชี้ให้เห็นว่าจีนตระหนักดีถึงความสำคัญของตำแหน่งที่ตั้งของตนเองต่อการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก
โดยเฉพาะจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างทวีปยูเรเชีย (Eurasia) ที่ครอบคลุมยุโรปและเอเชียทั้งหมด ตลอดจนเส้นทางคมนาคมทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ดั่งที่ Halford Mackinder กล่าวไว้ว่าใครที่สามารถครอบครอง ‘เกาะโลก’ (World Island) ซึ่งหมายถึงทวีปยูเรเชียก็สามารถเป็นจ้าวโลกได้[1]
ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiatives นอกจากจะมุ่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกของจีนแล้ว ยังมีนัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้จีนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศอันเป็นการขยายเขตอิทธิพล (sphere of influence) ไปทั่วทั้งยูเรเชีย
แน่นอนว่าการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวย่อมสร้างความไม่พอใจแก่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเสถียรภาพในระเบียบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ มองว่าจีนคือคู่แข่งรายสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นเดียวกับที่อังกฤษมองรัสเซียในศตวรรษที่ 19[2] อย่างไรก็ตาม การขยายอิทธิพลของจีนที่ส่งผลกระทบด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตรมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการเพิ่มกำลังทางทหารในทะเลจีนใต้ซึ่งในปัจจุบันยังคงสถานะพื้นที่พิพาทและเต็มไปด้วยชนวนเหตุของความขัดแย้ง
ทะเลจีนใต้เป็นหลังบ้านและพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและทรัพยากรประเภทแก๊สและน้ำมันที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ อาทิ ไฮโดรคาร์บอนและสินค้าประมง แต่ที่สำคัญ ทะเลจีนใต้เป็นช่องทางเปิดที่มีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกรุกรานโดยศัตรู รวมทั้งเรือบรรทุกสินค้าและน้ำมันก็มักจะถูกปล้นโดยโจรสลัดบ่อยครั้ง
จีนจึงใช้เหตุผลด้านความมั่นคงในการเพิ่มขีดความสามารถในการรบทางทะเลในขณะที่หวังผลความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องเพราะหากจีนสามารถครอบครองทะเลจีนใต้ได้สำเร็จจะทำให้จีนเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยอัตโนมัติ และเมื่อจีนเป็นหนึ่งในสมาชิก Shanghai Cooperation Organisation อยู่แต่เดิมแล้วก็จะทำให้มังกรจีนสามารถสยายปีกขยายอิทธิพลครอบงำทั้งเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ[3]
ความปรารถนาในการขยายเขตอิทธิพลของจีนอาจเปรียบได้กับฝรั่งเศสและรัสเซียในศตวรรษที่ 19 จีนอาจจะเหมือนกับฝรั่งเศสที่ถูกมองว่าเป็นรัฐที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม (revisionist power) และใช้กำลังทางทหารรุกล้ำเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น และในขณะเดียวกันจีนก็อาจจะเหมือนรัสเซียในช่วงคอนเสิร์ตแห่งยุโรปที่ต้องการขยายเขตอิทธิพลแต่ถูกระงับไว้ด้วยหลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่ตั้งของจีนในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีพรมแดนติดกับรัสเซียในทางภูมิศาสตร์ แต่กลับตกอยู่ในสภาวะที่คล้ายคลึงกับฝรั่งเศสหลังสงครามนโปเลียนมากกว่า เนื่องจากจีนอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงสูงต่อการถูกสกัดกั้น (containment) เนื่องจากมีพรมแดนทางบกติดกับรัฐอื่นมากกว่า 14 ประเทศ ส่งผลให้จีนอาจต้องรับศึกรอบทิศทางในกรณีที่ต้องทำสงครามกับสหรัฐฯ และพันธมิตร โจทย์ความมั่นคงที่ซับซ้อนและข้อจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้จีนจำต้องตัดสินใจใช้กำลังทางทหารเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยเลือกที่จะใช้การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นอำนาจเชิงรุกแทน
ความเข้าใจในความสำคัญของตำแหน่งที่ตั้งรัฐตนเอง ตลอดจนการรู้จักใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบ – ข้อจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นของรัฐบุรุษตามที่คิสซินเจอร์เน้นย้ำไว้ใน A World Restored[4] สหรัฐฯ ตระหนักดีถึงข้อจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนจึงเล่นบทบาทผู้รักษาสมดุลจากนอกภูมิภาค (offshore balancer) เข่นเดียวกับอังกฤษในคอนเสิร์ตแห่งยุโรป โดยใช้พันธมิตรอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียนเป็นกลไกในการสกัดกั้นจีนผ่านการวางกำลังในฐานทัพตามจุดยุทธศาสตร์
การยืนกรานในการเสรีภาพการเดินเรือ (freedom of navigation) การฝึกร่วม/ผสมทางบกและทางเรือกับรัฐพันธมิตร ตลอดจนการผลักดันยุทธศาสตร์ Free and Open Indo – Pacific ซึ่งมุ่งหมายในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคใกล้เคียง
การแข่งขันช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดำเนินไปในลักษณะการปะทะกันระหว่างรัฐมหาอำนาจสถานภาพเดิม (ruling power) และรัฐที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม (revisionist power) ในระเบียบระหว่างประเทศซึ่ง Allison มองว่าการเผชิญหน้าดังกล่าวอาจนำไปสู่กับดักของธูซิดิดีส (Thucydides’s Trap)[5] และเป็นชนวนของสงครามใหญ่ระหว่างรัฐมหาอำนาจทั้งสอง
ใน A World Restored คิสซินเจอร์ชี้ให้เห็นว่ารัฐมหาอำนาจที่เป็นทั้งคู่แข่งและมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันสามารถร่วมมือกันได้เมื่อจำเป็น เช่นความร่วมมือกันของพันธมิตรจตุรภาคีในการต่อกรกับอภิมหาทัพของนโปเลียน และพันธมิตรศักดิ์สิทธิในการปราบปรามพลังปฏิวัติเสรีนิยมและชาตินิยมที่เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของระเบียบอนุรักษ์นิยม
แต่ความสำเร็จในการผนึกกำลังของรัฐมหาอำนาจยุโรปในศตวรรษที่ 19 ส่วนหนึ่งปฏิเสธมิได้ว่ามาจากภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดกัน ในขณะที่สหรัฐฯ กับจีนมีตำแหน่งที่ตั้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กรณีของระเบียบอนุรักษ์นิยม ความอลหม่านวุ่นวายจากการปฏิวัติที่เกิดขึ้นภายในรัฐใดหนึ่งในยุโรปย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐอื่นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้[6] โดยเฉพาะเมื่อรัฐเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ปกครองด้วยระบบกษัตริย์เช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน ระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบัน รัฐต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างมีรูปแบบการปกครอง วัฒนธรรมการเมือง ตลอดจนจารีตประเพณีที่แตกต่างหลากหลาย จนทำให้การสร้างเอกภาพร่วมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง
นอกจากนั้น ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ห่างไกลกันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนดำเนินไปในลักษณะเดียวกันกับอังกฤษและรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ภายในเขตอิทธิพลของตนเอง และอาศัยพันธมิตรที่อยู่ใกล้กว่าช่วยสอดส่องพฤติกรรมของกันและกันเป็นสำคัญ
การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปัจจุบันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพอธิปไตยทางอาณาเขตของแต่ละรัฐที่ถูกตั้งคำถามจากความพยายามในการครอบครองทะเลจีนใต้ของจีน การแทรกแซงทางการทหารของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ซีเรีย และไครเมียเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความแตกต่างทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้แต่ละรัฐมุ่งแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติที่แตกต่างกัน
ขณะที่จีนต้องการยึดครองทะเลจีนใต้เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของตนเอง สหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่ผู้รักษาระเบียบระหว่างประเทศไม่สามารถปล่อยให้จีนล่วงล้ำพื้นที่พิพาทได้ตามอำเภอใจได้ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานที่ยึดถือร่วมกัน
นอกจากนั้น การประกาศไม่ยอมรับผลการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ยังชี้ให้เห็นว่าจีนไม่ยอมรับในกลไกและหลักการพื้นฐานที่ค้ำจุนระเบียบเสรีนิยมไว้อย่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) โดยมองว่ากลไกดังกล่าวลำเอียงและปราศจากความชอบธรรม
ด้วยเหตุนี้ในสายตาของจีน ระเบียบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ จรรโลงและพิทักษ์รักษาไว้จึงเป็นระเบียบที่ไม่ชอบธรรม (illegitimate order) และการสวมบทบาทผู้รักษาสมดุลในระเบียบจากนอกภูมิภาคของสหรัฐฯ ด้วยการส่งเรือรบเข้ามาในทะเลจีนใต้ ยังเป็นการก้าวก่ายกิจการภายในภูมิภาคของจีนซึ่งไม่สามารถยอมรับได้
ภูมิรัฐศาสตร์จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโจทย์ความมั่นคงของแต่ละรัฐซึ่งคิสซินเจอร์เตือนไว้ใน A World Restored ว่าความพยายามในการแสวงหาความมั่นคงสูงสุดของรัฐมหาอำนาจย่อมบั่นทอนเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศ และนำไปสู่สงครามในท้ายที่สุด[7]
ปัจจุบันทั้งสหรัฐฯ และจีนกำลังมุ่งแสวงหาหนทางในการการันตีความมั่นคงสูงสุดให้กับตนเอง โดยปราศจากภัยคุกคามร่วมหรือคุณค่าที่ยึดถือและยอมรับร่วมกันดังเช่นรัฐมหาอำนาจยุโรปในศตวรรษที่ 19 การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะลุกลามกลายเป็นการเผชิญหน้าทางทหาร
หากมีสิ่งใดที่ A World Restored พอจะช่วยเสนอทางออกอยู่บ้างก็คงเป็นการฝากความหวังไว้ที่รัฐบุรุษผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของทั้งสองรัฐมหาอำนาจที่จะต้องตระหนักว่าการช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อให้ได้มาซึ่งการการันตีความมั่นคงสูงสุดให้กับรัฐของตนเองนั้นรังแต่จะนำมาซึ่งความอลหม่านวุ่นวายไม่สิ้นสุด เพราะความมั่นคงสูงสุดของรัฐหนึ่งรัฐใดนั้นย่อมหมายถึงความไม่มั่นคงสูงสุดของรัฐอื่น ๆ ที่เหลือในระเบียบระหว่างประเทศด้วยดุจกัน[8]
เสถียรภาพกับพลังชาตินิยมภายในรัฐศูนย์กลางระเบียบเสรีนิยม
Mearsheimer มองว่าไม่มีระเบียบระหว่างประเทศใดที่ยั่งยืนถาวร ปัจจัยที่มีบทบาทต่อความสั่นคลอนที่อาจจะนำไปสู่ความล่มสลายของระเบียบปัจจุบัน ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของระบบแบ่งสรรอำนาจ (distribution of power) ระหว่างรัฐมหาอำนาจ, อุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐที่มีอำนาจนำ, การเมืองของระบบดุลแห่งอำนาจ และกระแสชาตินิยม[9]
ในกรณีของสหรัฐฯ พลังชาตินิยมภายในรัฐที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นสัมพันธ์กับสถานะความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียว (unipolar) และผู้ส่งออกอุดมการณ์เสรีนิยมในระเบียบระหว่างประเทศ กล่าวคือ เมื่อเกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกแบกรับต้นทุนของความเป็นมหาอำนาจแล้วหันมาใส่ใจแก้ไขปัญหาภายในประเทศ และกระแสดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะลดการส่งออกคุณค่าแบบเสรีนิยม และงบประมาณสนับสนุนกลไกที่ค้ำชูหลักการพื้นฐานของระเบียบดังกล่าว[10]
ลักษณะดังกล่าวปรากฏชัดเจนเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวด้วยนโยบาย ‘อเมริกันเฟิร์ส’ อันเป็นการใช้แคมเปญประชานิยมที่เล่นกับกระแสความรู้สึกแง่ลบของอเมริกันชนที่มีต่อนโยบายสนับสนุนโลกาภิวัตน์ (Globalism) ของรัฐบาลที่ผ่านมาในการเรียกคะแนนนิยม ซึ่งเมื่อทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ปธน. เขาก็พยายามผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลในทางปฏิบัติทันที ทั้งการถอนตัวออกจากความตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ อาทิ Paris Climate Agreement, Trans Pacific Partnership (TPP) รวมถึงความพยายามในการปรับลดงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศที่หมายรวมถึงตัดงบประมาณสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศที่เป็นกลไกค้ำจุนระเบียบระหว่างประเทศเสรีนิยมอีกด้วย[11]
ระเบียบระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นที่กรุงเวียนนาหลังสงครามนโปเลียน และระเบียบที่เกิดขึ้นกรุงปารีสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์ไม่แตกต่างกันนั่นคือการสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพและปราศจากเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงและฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจ กลับกลายเป็นปัญหาภายในประเทศที่ลุกลามขึ้นและสร้างความปั่นป่วนให้กับระเบียบหลังสงคราม นั่นคือพลังชาตินิยมที่ท้าทายเสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกรัฐ แม้ว่ารูปแบบและเป้าหมายของพลังชาตินิยมของระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19 และระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบันจะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคืออิทธิพลที่พลวัตรของพลังดังกล่าวส่งผลกระทบต่อดุลยภาพในระเบียบระหว่างประเทศ รวมถึงท่าทีของรัฐมหาอำนาจต่อการจัดการกับกระแสดังกล่าวที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
ใน A World Restored คิสซินเจอร์มองกระแสชาตินิยมที่กลายเป็นภัยคุกคามต่อหลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์ว่าเป็นผลมาจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระเบียบของนโปเลียนให้สอดคล้องกับโลกทัศน์เสรีนิยมของเขา
อย่างไรก็ตาม เมื่ออภิมหาทัพสามารถพิชิตดินแดนและยึดอำนาจมาจากกษัตริย์ตามจารีตประพณีการปกครองของรัฐแล้ว นโปเลียนกลับไม่สามารถสถาปนาสิทธิในการปกครองที่มีความชอบธรรมขึ้นมาทดแทนได้ และแม้ว่าเขาจะสามารถผนวกดินแดนในยุโรปเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่มันก็เป็นเพียงแค่เปลือกนอก[12] เพราะประชาชนยังรู้สึกถึงความเป็นอื่นหรือคนนอกของเจ้าผู้ปกครอง และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกบังคับให้มาอยู่รวมกันโดยปราศจากการหลอมรวมความเป็นชาติ เมื่อนั่นกระแสชาตินิยมจึงถูกจุดขึ้นเพื่อทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมในการปกครองคืนจากฝรั่งเศส และรัฐมหาอำนาจที่เข้ามากำกับดูแลหลังนโปเลียนพ่ายแพ้
โดยหนึ่งในรับที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นจักรวรรดิออสเตรียที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากกว่า 11 เชื้อชาติ และเพิ่งผ่านพ้นความพ่ายแพ้จากการทำสงครามมาหลายต่อหลายครั้ง
คิสซินเจอร์วิจารณ์ทางเลือกของเมตแตร์นิชในการรับมือกระแสชาติที่นิยมที่บั่นทอนเสถียรภาพของโครงสร้างภายในแบบอนุรักษ์นิยมว่าเป็นการเชื่อมโยงความชอบธรรมในการปกครองเข้ากับเสถียรภาพและความต่อเนื่องของระบบราชการ[13] โดยละเลยความล้าสมัยของสถาบันกษัตริย์และพลังชาตินิยมและเสรีนิยมที่เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยในช่วงเวลานั้น
ด้วยเหตุนี้ ออสเตรียจึงพลาดโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้างภายในและต้องเผชิญกับปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่มากมายจนเมตแตร์นิชจำเป็นต้องพึ่งกลไกคอนเสิร์ตแห่งยุโรปและพันธมิตรศักดิ์สิทธิในการปราบปรามขบวนการชาตินิยมและเสรีนิยมที่เป็นภัยต่อจักรวรรดิ ซึ่งการเป็นการยื้อเวลาในการล่มสลายออกไปเพียงไม่กี่ทศวรรษเท่านั้น
ในขณะที่พลังชาตินิยมในยุโรปศตวรรษที่ 19 เป็นปัจจัยที่ช่วยให้รัฐมหาอำนาจผนึกกำลังกันต่อกรเพื่อความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์และเสถียรภาพของระเบียบอนุรักษ์นิยม การขยายตัวของพลังชาตินิยมในระบอบเสรีนิยมกลับก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงข้าม
กล่าวคือกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเป็นผลมาจากความไม่พอใจต่อกลไกที่เกิดจากหลักเสรีนิยม เช่น ความบอบช้ำจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในยุคที่ระบบเศรษฐกิจของแต่ละรัฐมีการขึ้นต่อกันและกัน (interdependence) ตลอดจนความรู้สึกไม่ยุติธรรมต่อรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กับทุนข้ามชาติโดยละเลยผลประโยชน์ของประชาชนภายในประเทศ
แต่ที่ปรากฏชัดเจนและมีพลังมากคือกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ รวมทั้งคุณค่าและอุดมการณ์แบบเสรีนิยมบางประการที่ทำให้คนในประเทศรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับการดูแลปกป้องผลประโยชน์จากรัฐบาลมากเท่าที่ควร เช่น กรณี Brexit, กระแสตีกลับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยสงคราม, ชัยชนะของนักการเมืองฝ่ายขวาในหลายประเทศรวมทั้งในสหรัฐฯ
พลังชาตินิยมที่เกิดขึ้นดังกล่าว นักวิชาการบางคนกล่าวว่าเป็นชาตินิยมใหม่ (New Nationalism)[14] ซึ่งมุ่งโจมตีโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมภายในรัฐ โดยเฉพาะระบบอภิสิทธิ์ชน กลุ่มทุนขนาดใหญ่ และชนชั้นนำทางการเมือง (elite) ซึ่งใช้ระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเปิด (open market) เป็นกลไกในการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจในสังคม
พลวัตรของพลังชาตินิยมใหม่แม้ว่าจะมิได้ปฏิเสธคุณค่าแบบเสรีนิยมทั้งหมด แต่ก็มีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายต่างประเทศให้ลดบทบาทในเวทีระหว่างประเทศลง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศดังที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
การปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายของสหรัฐฯ ต่อการธำรงรักษาความต่อเนื่องของระเบียบเสรีนิยมผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การประชุมระหว่างประเทศ การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร ตลอดจนการสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ เป็นรัฐศูนย์กลางทำหน้าที่จรรโลงและพิทักษ์รักษามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงดังที่ปรากฏถึงความสั่นคลอนไม่แน่นอนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภายในรัฐเสรีนิยมที่อิงอยู่กับมติมหาชนนั้นเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าโครงสร้างแบบอนุรักษ์นิยมที่ขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ของกษัตริย์และระบบราชการ ท่าทีของสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนไปเมื่อได้ผู้นำคนใหม่จากพรรคเดโมแครตที่มีโลกทัศน์เสรีมากกว่าทรัมป์ และความปั่นป่วนในระเบียบระหว่างประเทศก็อาจได้รับการฟื้นฟูแก้ไขให้กลับคืนสู่ดุลยภาพดังเดิม
กระนั้น พลวัตรของกระแสชาตินิยมใหม่จะยังคงเป็นพลังที่ท้าทายระเบียบเสรีนิยมต่อไป แม้ว่า Mearsheimer จะวิเคราะห์ว่าระเบียบเสรีนิยมในตัวมันเองได้สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและอัตลักษณ์ภายในรัฐเสรีนิยมเอง โดยเฉพาะเมื่อความพยายามของรัฐมหาอำนาจเสรีนิยมประสบกับความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัฐอำนาจนิยมให้เป็นประชาธิปไตย และก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพเคลื่อนย้ายเข้าไปในรัฐเสรีนิยมเหล่านั้นอันนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย[15]
ในท้ายที่สุดปัญหาเหล่านั้นก็จะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การล่มสลายของระเบียบเสรีนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นรัฐมหาอำนาจหนึ่งเดียว ก่อนที่จะหวนคืนกลับไปสู่ระเบียบแบบแบ่งค่าย (bounded order) ที่มีการแข่งขันของอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะกลายเป็นหลักการพื้นฐานอันชอบธรรมของระเบียบระหว่างประเทศโดยรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้นแก่โครงสร้างภายในรัฐกับระเบียบระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่คิสซินเจอร์เน้นย้ำไว้หลายจุดใน A World Restored ไม่เฉพาะบทบาทของเมตแตร์นิชในการใช้กลไกของระเบียบอนุรักษ์นิยมจัดการกับปัญหาภายในออสเตรีย หากยังหมายรวมถึงโครงสร้างภายในแบบเสรีนิยมของอังกฤษที่ส่งผลต่อนโยบายในคองเกรสแห่งเวียนนาของแคสเซิลเรย์ ตลอดจนภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ซึ่งส่งผลต่อการวางบทบาทของรัสเซียในระเบียบหลังสงครามนโปเลียน
นอกจากนั้น ความแตกต่างของสถาบันและโครงสร้างภายในยังทำให้แต่ละรัฐมีความรับรู้ต่อภัยคุกคามที่แตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่เมตแตร์นิชทำวิถีทางเพื่อรักษาสถานภาพเดิมของออสเตรียไว้จากพลังชาตินิยม แคสเซิลเรย์กลับให้ความสำคัญกับการสร้างระบบที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจอย่างคอนเสิร์ตแห่งยุโรป เนื่องจากอังกฤษที่ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับผลกระทบจากพลังชาตินิยมแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับที่ทรัมป์ใช้กระแสชาตินิยมในสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือในการเรียกคะแนนเสียงระหว่างการเลือกตั้ง ปธน. และต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ด้วยการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในระเบียบระหว่างประเทศ ขณะที่ปฏิกิริยาต่อปัญหาการอพยพลี้ภัยในซีเรีย โลกทัศน์แบบเกาะโดดเดี่ยว (insular mentality) และพลังชาตินิยมก็มีส่วนผลักดันให้อังกฤษพยายามแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
A World Restored ชี้ให้เห็นว่าด้วยปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐอื่นในยุโรป แต่รัฐในปัจจุบันแม้ว่าจะมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่าง แต่ก็ถูกเชื่อมโยงด้วยระบบเศรษฐกิจแบบขึ้นต่อกันและกัน โลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารทำให้ความไร้เสถียรภาพที่เกิดขึ้นในรัฐหนึ่ง โดยเฉพาะรัฐมหาอำนาจย่อมส่งผลกระทบต่อดุลยภาพของระเบียบระหว่างประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แต่ในระเบียบโลกปัจจุบันที่สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกิดจากพลวัตรของพลังชาตินิยมภายในก่อให้เกิดความสั่นคลอนในระเบียบที่อยู่ในสถานะที่มีความชอบธรรมลดน้อยลงจากการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีนและรัสเซีย ส่งผลให้ระเบียบเสรีนิยมกำลังตกอยู่ในสภาวะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีนิยมไม่ได้เป็นเพียงอุดมการณ์ที่มีความชอบธรรมเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ทั้งนี้ คิสซินเจอร์ก็บอกกับเราผ่าน A World Restored ว่าการตัดสินใจของรัฐบุรุษหรือผู้นำมีความสำคัญต่อดุลยภาพในระเบียบ และเป็นภารกิจของรัฐบุรุษในการกำกับดูแลความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและชอบธรรม[16]
ความ(ไม่)ชอบธรรมของระเบียบเสรีนิยม
ดุลยภาพในระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19 เป็นผลมาจากการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจภายใต้หลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์ อันเป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่ามีความสำคัญต่อเสถียรภาพของระเบียบและจำเป็นต้องพิทักษ์รักษาไว้จากการถูกคุกคามโดยพลังปฏิวัติเสรีนิยมและชาตินิยม ซึ่งหากพิจารณาด้วยกรอบของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนัก Constructivism แล้ว ก็กล่าวได้ว่าหลักความชอบธรรมฯ ดังกล่าวทำงานในลักษณะเดียวกับบรรทัดฐานร่วม (shared norms)[17] ที่แต่ละรัฐยอมรับและยึดถือให้เป็นคุณค่าพื้นฐานในการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
อย่างไรก็ตาม ระเบียบระหว่างประเทศเสรีนิยมที่สหรัฐฯ ใช้ค่านิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตกและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีเป็นฐานที่ช่วยค้ำจุนเสถียรภาพของระเบียบกำลังประสบภาวะเสื่อมคลายลงของความชอบธรรม Mearsheimer มองว่าระเบียบเสรีนิยมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของสหรัฐฯ หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง
ดังนั้นเมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถูกท้าทายด้วยจีนและรัฐอื่น ๆ ที่ผงาดขึ้นมา และภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำโลกเริ่มเปลี่ยนไปจากความพ่ายแพ้ในสงครามหลายครั้ง ทำให้ระเบียบเสรีนิยมที่เกิดขึ้นมีอายุขัยที่จำกัดและจะเปลี่ยนแปลงไปตามเจตนารมณ์ของรัฐมหาอำนาจใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจจัดการระเบียบ[18]
ความอลหม่านที่เกิดขึ้นกับระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าหลักการพื้นฐานหรือสหรัฐฯ ยกให้เป็นคุณค่าสากล (universal values) อย่างหลักสิทธิมนุษยชน การค้าเสรี เสรีภาพทางการเมือง และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นกำลังถูกท้าทายด้วยพลังชาตินิยม ภูมิภาคนิยม และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เริ่มปรากฎในหลายพื้นที่ พร้อม ๆ กับการผงาดขึ้นมาของรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ดังกล่าวของสหรัฐฯ อย่างจีนและรัสเซียซึ่งพยายามเข้ามามีส่วนในการจัดการระเบียบระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ เป็นผู้จรรโลงและพิทักษ์รักษา
สภาวการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของคุณค่าที่สหรัฐฯ วางเป็นรากฐานของระเบียบเสรีนิยมซึ่งได้รับความเห็นพ้องและยอมรับจากรัฐที่เป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์เสรีนิยมเท่านั้น แต่มิใช่รัฐมหาอำนาจทั้งหมด ระเบียบเสรีนิยมของสหรัฐฯ หากมองในกรอบวิเคราะห์ของคิสซินเจอร์ใน A World Restored จึงเป็นระเบียบที่ไม่มีความชอบธรรม (illegitimate order) เนื่องจากไม่ได้เกิดขึ้นจากการยอมรับของรัฐมหาอำนาจทุกฝ่ายในระเบียบ
แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ การสร้างระเบียบที่รัฐมหาอำนาจและรัฐอื่น ๆ ยอมรับเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะระเบียบระหว่างประเทศปัจจุบันที่มีรัฐเป็นสมาชิกมากกว่า 193 ประเทศ (รัฐสมาชิก UN) ซึ่งคิสซินเจอร์ก็เล็งเห็นถึงอุปสรรคข้อนี้ เขายอมรับว่าระเบียบระหว่างประเทศที่ครอบคลุมโลกทั้งใบไม่เคยดำรงอยู่จริง[19] ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันคือระเบียบที่มุ่งจัดการความสัมพันธ์และการแบ่งสรรอำนาจระหว่างรัฐมหาอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อดุลแห่งอำนาจของทั้งโลก
ระเบียบดังกล่าวถูกค้ำจุนด้วยหลักการพื้นฐานที่รัฐต่าง ๆ ยอมรับให้เป็นแบบแผนในการจำกัด ควบคุม และป้องกันพฤติกรรมของรัฐมิให้กระทำต่อรัฐอื่นในลักษณะของการรุกราน ฉันทามติที่รัฐมหาอำนาจมีร่วมกันต่อหลักความชอบธรรมที่ค้ำจุนระเบียบนั้น มิอาจขัดขวางการแข่งขันหรือเผชิญหน้าระหว่างรัฐมหาอำนาจ หากแต่ช่วยการันตีว่าความเปลี่ยนแปลงในระเบียบจะเกิดขึ้นด้วยการเจรจาต่อรอง มิใช่ด้วยการใช้กำลังทางทหารเข้าท้าทาย[20]
หลักความชอบธรรมที่คิสซินเจอร์อธิบายไว้ใน World Order หนังสือที่เปรียบได้ดั่งปัจฉิมบทของการผจญภัยอันโลดโผนของโอดิสซีที่เริ่มต้นหลักไมล์แรกด้วย A World Restored จึงเป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนา ทดสอบ และปรับปรุงตลอดเส้นทางชีวิตอันยืนยาวของเขา ประสบการณ์ที่คิสซินเจอร์ประสบด้วยตนเองจากการร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 การดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในสงครามเวียดนาม ตลอดจนการให้คำปรึกษาผู้นำสหรัฐฯ ในความขัดแย้งหลายต่อหลายครั้งจวบจนปัจจุบันทำให้เขายังคงยืนกรานว่าดุลแห่งอำนาจที่เกิดจากกำลังทางทหารเพียงลำพังไม่เพียงพอต่อการสร้างเสถียรภาพในระเบียบ[21]
ด้วยเหตุนี้ ระเบียบที่จะมีความยั่งยืนจะต้องประกอบด้วยสมดุลระหว่างหลักความชอบธรรมกับอำนาจทางการทหาร ยิ่งรัฐมหาอำนาจที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของระเบียบมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้ชิดกันมากเท่าไหร่ การแสวงหาจุดร่วมเพื่อสร้างฉันทามติระหว่างกันก็ยิ่งง่ายมากขึ้นเท่านั้นเช่นในกรณีของยุโรปในศตวรรษที่ 19
อย่างไรก็ตาม บริบทของโลกสมัยใหม่ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันด้วยโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีการสื่อสารต้องการระเบียบระหว่างประเทศที่ครอบคลุมทั่วทั้งโลก อันหมายถึงระเบียบที่ประกอบด้วยรัฐจำนวนมากที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี ศาสนา หรือภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งคิสซินเจอร์มองว่าระเบียบดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าเสถียรภาพ[22]
หลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์ที่คิสซินเจอร์ศึกษาใน A World Restored จึงมีข้อจำกัดในการอธิบายหลักความชอบธรรมที่ค้ำจุนระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19 มีลักษณะเป็นระเบียบภายในภูมิภาค (regional order) ที่รัฐมหาอำนาจในยุโรปมีความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และมีโครงสร้างภายในแบบอนุรักษ์นิยมที่สอดคล้องกัน จึงทำให้สามารถแสวงหาจุดร่วมในการต่อกรกับภัยคุกคามร่วมกันได้
เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐอื่นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ขณะที่ระเบียบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์เสถียรภาพนั้นมีขนาดที่ใหญ่ครอบคลุมทั่วทั้งโลก โดยแต่ละรัฐล้วนมีอัตลักษณ์วัฒนธรรม โครงสร้างภายใน และรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การส่งออกอุดมการณ์เสรีนิยมและระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ไม่สามารถปรับใช้ได้กับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของทุกรัฐ ในทางกลับกัน การแทรกแซงของสหรัฐฯ เพื่อจรรโลงระเบียบเสรีนิยมยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับของรัฐที่ไม่ยอมรับบรรทัดฐานและสถานะมหาอำนาจของสหรัฐฯ อย่างเกาหลีเหนือ และขบวนการอิสลามหัวรุนแรงที่มองว่าค่านิยมแบบเสรีนิยมเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อทางศาสนาอันนำไปสู่การปะทะกันทางอารยธรรม[23]
การสร้างหลักความชอบธรรมที่เกิดจากความเห็นพ้องในดุลแห่งผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจในระเบียบเสรีนิยมจึงเป็นความฝันของนักอุดมคติ ไม่ต่างจากความใฝ่ฝันของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ซึ่งปรารถนาจะเห็นรัฐต่าง ๆ ในยุโรปรวมกันเป็นสหพันธรัฐ หรือความวาดหวังของแคสเซิลเรย์ที่ต้องการให้คอนเสิร์ตแห่งยุโรปเป็นเวทีในการสานสัมพันธ์ระหว่างผู้นำรัฐยุโรปเพื่อสร้างความใกล้ชิดด้วยระบบปรึกษาหารือ แม้ว่าในความเป็นจริงพิราบในมือเขาจะถูกเปลี่ยนเป็นดาบในมือเมตแตร์นิช
แต่คิสซินเจอร์ก็ชี้ให้เราเห็นว่ารัฐบุรุษคือผู้ที่ต้องสามารถประนีประนอมระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และสิ่งที่เป็นไปได้ในการรักษาเสถียรภาพในระเบียบเสรีนิยมที่กำลังสั่นคลอน คือ การตกลงร่วมกันระหว่างรัฐมหาอำนาจเกี่ยวกับหลักผลประโยชน์อันชอบธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับและผูกมัดที่จะปกป้องรักษา เพื่อเป็นรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศใหม่ที่ไม่ได้มีเพียงแค่สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวอีกต่อไป
การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ กับจุดจบของระเบียบเสรีนิยม
ใน A World Restored คิสซินเจอร์กล่าวถึงสิทธิในการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐมหาอำนาจว่าควรเกิดขึ้นเมื่อมีความจำเป็นยวดยิ่งเท่านั้น และสิทธิดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ตามอำเภอใจกับทุกกรณี[24]
การแทรกแซงของพันธมิตรศักดิ์สิทธิเพื่อรักษาหลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์และดุลยภาพทางอาณาเขต แม้จะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมของคอนเสิร์ตแห่งยุโรป แต่ออสเตรียและปรัสเซียก็จำเป็นต้องถ่วงดุลและระงับความทะเยอทะยานของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์มิให้ใช้สิทธิในการแทรกแซงดังกล่าว เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายในการขยายเขตอิทธิพลและสถาปนาอำนาจนำของรัสเซียในยุโรป เพราะการแทรกแซงที่ปราศจากการควบคุมและจำกัดขอบเขตอันนำมาซึ่งความขัดแย้งมากกว่าเสถียรภาพในระเบียบระหว่างประเทศ
ความซับซ้อนของการแทรกแซงกิจการภายในรัฐอื่นเพื่อรักษาเสถียรภาพของระเบียบในภาพรวมทำให้การกระทำดังกล่าวเปรียบได้ดั่งดาบสองคม Mearsheimer วิจารณ์การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ ในรัฐอื่นเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างภายให้เป็นระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในแง่ลบ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความชอบธรรมของระเบียบเสรีนิยม
ขณะที่ Ikenberry มองว่าการแทรกแซงด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมตามหลักความรับผิดชอบในการคุ้มครอง (Responsibility to Protect) นั้นเป็นประเด็นที่มีปัญหาและจำเป็นต้องมีแหล่งที่มาของอำนาจดังกล่าวที่ชัดเจนและชอบธรรม อันเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะรัฐมหาอำนาจไม่ว่าจะผ่านกลไกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือเนโต้มักจะมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในประเด็นสิทธิในการแทรกแซงและการใช้กำลังทหารเสมอ[25]
การแทรกแซงของพันธมิตรศักดิ์สิทธิ์เพื่อระงับพลังปฏิวัติกับการแทรกแซงของสหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของรัฐอื่นให้สอดคล้องกับระเบียบเสรีนิยมจึงเป็นไปเพื่อเป้าหมายที่แตกต่างกันงานของ
Finnmore ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของการแทรกแซงมีการปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขของระเบียบระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปในแต่ละห้วงเวลา กล่าวคือ ขณะที่ระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19 ตั้งอยู่บนระบบดุลแห่งอำนาจระหว่างรัฐมหาอำนาจในยุโรป ระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบันกลับตั้งอยู่บนระบบเขตอิทธิพล (sphere-of-influence system) ยกตัวอย่างเช่น ในยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างมองว่าระบบการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยและระบบคอมมิวนิสม์ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระเบียบที่มีเสถียรภาพในทัศนะของตนเอง จึงพยายามแทรกแซงรัฐในค่ายตรงข้ามเพื่อสถาปนารัฐบาลที่มีความชอบธรรมตามโลกทัศน์เกี่ยวกับระเบียบที่ตนเองสมาทาน
อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงของพันธมิตรศักดิ์สิทธิกลับมีเป้าหมายเพื่อปราบปรามกระแสปฏิวัติเสรีนิยมและชาตินิยมที่รัฐอนุรักษ์นิยมทั้งสามเห็นพ้องกันว่าเป็นภัยคุกคามต่อหลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์ ด้วยเหตุนี้ Finnmore จึงเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงในความรับรู้เกี่ยวกับระเบียบระหว่างประเทศ ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเป้าหมายและรูปแบบการแทรกแซงด้วยดุจกัน[26]
ความชอบธรรมในการแทรกแซงระหว่างระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19 กับระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างกัน เพราะระบบจัดสรรปันส่วนอำนาจในยุโรปหลังสงครามนโปเลียน รัฐมหาอำนาจที่เข้าร่วมการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนาล้วนแล้วแต่บอบช้ำจากสงคราม และมีขีดความสามารถทางการทหารในสัดส่วนที่ไม่มีรัฐใดสามารถสถาปนาอำนาจนำได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ระเบียบดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากการตกลงของรัฐมหาอำนาจหลายฝ่าย (multipolar) ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกัน และด้วยเหตุนั้น การแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นจึงเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนร่วมและเสถียรภาพในระเบียบหลังสงคราม ขณะที่การแทรกแซงของสหรัฐฯ ในฐานะรัฐมหาอำนาจหนึ่งเดียวกลับเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และเพิ่มพูนขีดความสามารถในการครองอำนาจนำของตนเองในระเบียบเสรีนิยม โดยใช้คุณค่าแบบเสรีนิยมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนรัฐที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นภัยคุกคามให้มีพฤติกรรมสอดคล้องกับระเบียบและไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของตนเอง
ใน A World Restored คิสซินเจอร์มองการใช้กำลังทางทหาร (use of force) ในการแทรกแซงรัฐอื่นว่าเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจ เนื่องเพราะความชอบธรรมในการแทรกแซงมีความสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของรัฐผู้แทรกแซงเสมอ
ในขณะที่พันธมิตรศักดิ์สิทธิเห็นชอบในการใช้กำลังเข้าแทรกแซงเพื่อปราบปรามขบวนการปฏิวัติเสรีนิยมและชาตินิยม อังกฤษซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากกระแสปฏิวัติกลับไม่เห็นด้วยกับสิทธิในการแทรกแซงดังกล่าว[27] และเมื่อแคนนิ่งก้าวขึ้นมาคุมนโยบายต่างประเทศแทนแคสเซิลเรย์ การแทรกแซงจึงทำได้อย่างจำกัดและยากลำบากมากขึ้นเมื่อรัฐมหาอำนาจในระเบียบไม่เห็นชอบในการกระทำดังกล่าวและพร้อมจะต่อต้านขัดขวางเมื่อจำเป็น
คิสซินเจอร์ชี้ให้เราเห็นว่าความสำเร็จของพันธมิตรศักดิ์สิทธินั้นมีข้อจำกัดและไม่ยืนยาว รัฐพันธมิตรอาจร่วมมือกันแทรกแซงเพื่อระงับความขัดแย้งในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพภายในรัฐที่มีปัญหาให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ แต่ในกรณีของสหรัฐฯ การแทรกแซงในนามของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนสงครามที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์อาหรับสปริงซึ่งใช้ระยะเวลายาวนานและก่อให้เกิดความสูญเสียด้านงบประมาณจำนวนมาก ทำให้การแทรกแซงของสหรัฐฯ มีความชอบธรรมน้อยลงตามลำดับ
ที่สำคัญการแทรกแซงที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเขตอิทธิพลและความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในหลายพื้นที่อันปรากฎแก่สายตารัฐอื่น ๆ ในประชาคมโลก นอกจากจะสร้างความไม่ไว้วางใจต่อบทบาททางทหารของสหรัฐฯ แล้ว ยังก่อให้เกิดกระแสในแง่ลบต่อระเบียบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ พยายามจรรโลงอีกด้วย
การแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นเพื่อรักษาเสถียรภาพของระเบียบเสรีนิยมจึงเป็นการทำลายตนเองรูปแบบหนึ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของรัฐอื่นโดยปราศจากความยินยอมคือบ่อเกิดของกระแสชาตินิยมที่รอวันลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐผู้แทรกแซง
Mearsheimer มองว่ารัฐที่หวาดเกรงการถูกแทรกแซงจากสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะผนึกกำลังกันต้านทานและถ่วงดุลพฤติกรรมของสหรัฐฯ[28] ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งแยกค่ายในระเบียบระหว่างประเทศดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน จีนกับรัสเซียพร้อมที่จะร่วมมือกันคานอำนาจสหรัฐฯ
และพันธมิตรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในขณะที่รัฐในตะวันออกก็พร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อต่อกรพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดิอาระเบีย
ความแตกแยกที่เกิดขึ้นผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่ทุกรัฐเห็นพ้องต้องกันในคุณค่าสากล หากในความเป็นจริงแล้วการใช้กำลังทางทหารแทรกแซงรัฐอื่นเพื่อส่งออกอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นการบั่นทอนความชอบธรรมของระเบียบในตัวเอง
เพราะอย่างที่คิสซินเจอร์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการแทรกแซงอาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมหาอำนาจทุกฝ่าย แต่มันควรจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น การแทรกแซงของสหรัฐฯ เป็นการสร้างความไม่ไว้วางใจแก่รัฐอื่นที่มิได้ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย และดั่งคำกล่าวของคิสซินเจอร์ การแสวงหาความมั่นคงสูงสุดบนความไม่มั่นคงสูงสุดของรัฐอื่น คือ ชนวนเหตุของสงคราม
บทสรุป
บทความชิ้นนี้มุ่งหมายเพื่อศึกษา A World Restored ซึ่งเป็นงานคลาสสิคชิ้นสำคัญของเฮนรี คิสซินเจอร์ ผู้เป็นบุคคลสำคัญของการเมืองโลก และยังคงทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อแวดวงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ประสบการณ์อันยาวนานในฐานะนักวิชาการ นักยุทธศาสตร์ และนักเจรจา ทำให้คิสซินเจอร์เป็นบุคคลที่น่าศึกษา
โดยเฉพาะโลกทัศน์เกี่ยวกับระเบียบระหว่างประเทศซึ่งอยู่ในความสนใจของเขาตั้งแต่วัยหนุ่ม และได้ปรากฎรูปรอยออกมาผ่านการศึกษาบทบาทของรัฐบุรุษในการจรรโลงระเบียบหลังสงครามนโปเลียนใน A World Restored
แม้ว่าระเบียบที่ยึดโยงกับความมั่นคงและสถานภาพเดิมของระบบกษัตริย์จะไม่สมบูรณ์แบบและเต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่กลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อค้ำจุนระเบียบดังกล่าวอย่างคอนเสิร์ตแห่งยุโรปก็ช่วยสร้างเสถียรภาพและป้องกันการเกิดสงครามใหญ่ได้เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ
ในห้วงปัจจุบันที่ระเบียบระหว่างประเทศเสรีนิยมที่สหรัฐฯ เป็นผู้จรรโลงและพิทักษ์รักษาเกิดความสั่นคลอนจากศูนย์กลางของระเบียบ การปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ กระแสชาตินิยมและต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก ตลอดจนการผงาดของจีน ขึ้นมาท้าทายอำนาจนำของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดคำถามถึงทิศทางในอนาคตของระเบียบที่กำลังสั่นคลอน
และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรักษาดุลยภาพระหว่างรัฐมหาอำนาจเพื่อป้องกันสงครามได้อีกต่อไป
การย้อนกลับมาทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับระเบียบระหว่างประเทศใน A World Restored ที่คิสซินเจอร์ศึกษาและวิเคราะห์ไว้จึงอาจช่วยให้เราสามารถเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบันได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยบทความชิ้นนี้ได้หยิบยก 4 ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตของคิสซินเจอร์จากงานดังกล่าวมาศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบ ลักษณะและองค์ประกอบของระเบียบระหว่างประเทศในสองช่วงเวลา ซึ่งมีทั้งความเหมือนและแตกต่าง โดยการศึกษาระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19 ผ่านกรอบวิเคราะห์ของคิสซินเจอร์ ทำให้ได้ข้อสรุปและมุมมองเกี่ยวกับความสั่นคลอนของระเบียบเสรีนิยมในปัจจุบัน ดังนี้
1) ความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเสถียรภาพในระเบียบระหว่างประเทศ
ความร่วมมือระหว่างรัฐมหาอำนาจยุโรปหลังสงครามนโปเลียน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน แต่ละรัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความขัดแย้งหรือสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างกันได้ จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อจัดการความสัมพันธ์และลดความไม่ไว้วางใจต่อกัน อาทิ สนธิสัญญาเกี่ยวกับการจัดสรรอาณาเขต การประชุมแบบปรึกษาหารือระหว่างผู้นำรัฐ และความร่วมมือในการต่อกรกับภัยคุกคามร่วมกัน เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจในคอนเสิร์ตแห่งยุโรปจึงมีลักษณะของการประนีประนอมและถ่วงดุลกันและกัน เนื่องจากภาพทรงจำอันโหดร้ายเกี่ยวกับสงครามนโปเลียนและกระแสปฏิวัติเสรีนิยมและชาตินิยมยังทำให้ผู้นำรัฐเหล่านั้นเลือกที่จะระงับเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกัน แล้วผนึกกำลังร่วมกันต่อกรกับภัยคุกคามที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของระเบียบในภาพรวม
ในทางตรงข้าม ระเบียบเสรีนิยมของสหรัฐฯ กลับมีอาณาเขตที่ครอบคลุมกว้างใหญ่กว่าระเบียบอนุรักษ์นิยมยุโรปหลายเท่า นอกจากนั้น รัฐมหาอำนาจที่มีขีดความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระเบียบยังมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ห่างไกลกัน จึงขาดความเชื่อมโยงกันในทางกายภาพ
โดยเฉพาะรัฐผู้ครองอำนาจนำอย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งขนาบข้างด้วยมหาสมุทรสองฝั่งห่างไกลจากรัฐมหาอำนาจอื่น ๆ ทำให้มีโลกทัศน์แบบรัฐเกาะโดดเดี่ยวเช่นเดียวกับอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ซึ่งสวมบทบาทผู้รักษาเสถียรภาพจากทางไกลผ่านกลไกในระเบียบเสรีนิยมต่าง ๆ อาทิ องค์การระหว่างประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พันธมิตรทางความมั่นคง และการวางกำลังทหารตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของโลกซึ่งแม้ว่าจะเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพในระเบียบ แต่ก็สร้างความไม่ไว้วางใจแก่รัฐมหาอำนาจในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งมีผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในบริเวณดังกล่าวโดยตรง เช่น กรณีทะเลจีนใต้ของจีน และแหลมไครเมียของรัสเซีย อันนำไปสู่การแข่งขันช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และทำให้ระเบียบเสรีนิยมค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นระเบียบแบบแบ่งค่ายเช่นเดียวกับในยุคสงครามเย็น
2) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างภายในแบบเสรีนิยม (Liberal Domestic Structure) ของสหรัฐฯ ส่งผลต่อทิศทางของระเบียบระหว่างประเทศ
คิสซินเจอร์มองว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายในรัฐที่มีโครงสร้างภายในแบบเสรีนิยมเกิดขึ้นง่ายกว่าโครงสร้างภายในแบบอนุรักษ์นิยม เนื่องจากทางเลือกของผู้นำรัฐนั้นถูกควบคุมไว้ด้วยรัฐสภาและมติมหาชนที่เป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจเลือกนโยบายที่เหมาะสม
กระแสชาตินิยมที่มีผลต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ทรัมป์ต้องดำเนินนโยบายอเมริกันเฟิร์สตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนด้วยการลดบทบาทความเป็นผู้นำอุดมการณ์เสรีนิยมในเวทีระหว่างประเทศ และหันมาปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของอเมริกาทั้งในและนอกประเทศ
การดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระเบียบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนทรัพยากรธำรงรักษาไว้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้รัฐมหาอำนาจอื่นที่มิได้สมาทานโลกทัศน์แบบเสรีนิยมโดยเฉพาะจีนและรัสเซียเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองภายในของรัฐมหาอำนาจกับระเบียบระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่คิสซินเจอร์ยืนยันว่าไม่อาจแยกออกจากกันได้ ทว่าขณะที่พลังชาตินิยมในศตวรรษที่ 19 เป็นภัยคุกคามจากโครงสร้างภายในที่กระตุ้นให้รัฐมหาอำนาจผนึกกำลังกันจัดการเพื่อรักษาดุลยภาพในระเบียบอนุรักษ์นิยม พลังชาตินิยมในสหรัฐฯ และพันธมิตรร่วมอุดมการณ์เสรีนิยมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส กลับมีบทบาทในการลดทอนความร่วมมือระหว่างกันและนำไปสู่ความเสื่อมลงของระเบียบเสรีนิยม
3) หลักความชอบธรรมแบบเสรีนิยมในปัจจุบันไม่สามารถสร้างฉันทามติร่วมกันระหว่างรัฐมหาอำนาจ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจในคอนเสิร์ตแห่งยุโรปตั้งอยู่บนฉันทามติร่วมกันว่าหลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์เป็นหลักการพื้นฐานของระเบียบหลังสงครามนโปเลียนที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือและปกป้องเพื่อความอยู่รอดในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ
ทัลลีรองด์ไม่ได้เป็นผู้สร้างหลักการดังกล่าว แต่หยิบยกมาจากจารีตประเพณีการปกครองที่รัฐในยุโรปภาคพื้นทวีปมีร่วมกันมาอย่างช้านาน หลักความชอบธรรมฯ จึงมีความผูกพันทางอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจในคอนเสิร์ตแห่งยุโรป
การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อต่อกรกับภัยคุกคามร่วมจึงเป็นไปได้ง่ายกว่าระเบียบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกคุณค่าแบบเสรีนิยม เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยไปยังรัฐต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีอัตลักษณ์และโครงสร้างภายในแตกต่างกันอันนำไปสู่การปะทะกันทางอารยธรรม และก่อให้เกิดกระแสโต้กลับในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การก่อการร้าย การต่อต้านโลกาภิวัตน์ กระแสชาตินิยม – ท้องถิ่นนิยม การโจรกรรมเทคโนโลยี และการป้องกันทางการค้า อันสะท้อนให้เห็นว่าความชอบธรรมแบบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ พยายามเชิดชูให้เป็นรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศ ไม่สามารถสร้างฉันทามติร่วมกันระหว่างรัฐมหาอำนาจได้ ด้วยความแตกต่างหลากหลายของรัฐต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของระเบียบ ด้วยเหตุนี้ ระเบียบเสรีนิยมจึงมีระยะเวลาดำรงอยู่จำกัดไม่ต่างจากระเบียบอนุรักษ์นิยมในศตวรรษที่ 19
4) เป้าหมายของการแทรกแซงกิจการภายในรัฐอื่นระหว่างระเบียบอนุรักษ์นิยมกับระเบียบเสรีนิยมมีความแตกต่างกัน
ใน A World Restored คิสซินเจอร์ชี้ให้เห็นว่าสิทธิในการแทรกแซงของพันธมิตรศักดิ์สิทธิเพื่อรักษาหลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์จะถูกใช้เมื่อมีความจำเป็นยวดยิ่งและต้องมีขอบเขตของการใช้กำลังทางทหารที่ชัดเจน
นอกจากนั้น สิทธิในการแทรกแซงดังกล่าวจะต้องกำกับไว้ด้วยหลักการควบคุมตนเอง (self- restraint) ของรัฐมหาอำนาจมิให้ใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนความมั่นคงให้ตนเอง ตลอดจนต้องมีการถ่วงดุลระหว่างกัน เช่นปรัสเซียและออสเตรียร่วมกันระงับความทะเยอทะยานของรัสเซียมิให้ดำเนินการแทรกแซงตามอำเภอใจจนขัดต่อหลักความชอบธรรมฯ
เป้าหมายของการแทรกแซงในระเบียบอนุรักษ์นิยมจึงเป็นไปเพื่อกำจัดภัยคุกคามที่กระทบต่อผลประโยชน์ร่วมกัน และรักษาระบบดุลแห่งอำนาจ ขณะที่การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ ในระเบียบเสรีนิยมกลับมีเป้าหมายเพื่อรักษาเขตอิทธิพล (sphere of influence) ที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของตนเองในหลายภูมิภาค
เนื่องจากความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีปราการทางธรรมชาติช่วยป้องกันการรุกรานจากศัตรู ทำให้สหรัฐฯ สามารถขยายเขตอิทธิพลเพื่อเพิ่มพูนความมั่นคงและเผยแพร่คุณค่าแบบเสรีนิยมโดยไม่ต้องพะวงกับรัฐเพื่อนบ้านเช่นรัฐมหาอำนาจอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงกิจการภายในรัฐอื่นเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้สอดคล้องกับระเบียบเสรีนิยม กลับส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของสหรัฐฯ ในฐานะผู้จรรโลงและรักษาระเบียบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง และก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงข้ามกับการแทรกแซงในระเบียบอนุรักษ์นิยมที่ช่วยเสริมเสถียรภาพในระเบียบให้แข็งแกร่งมากขึ้น
การศึกษาเปรียบเทียบการแทรกแซงในระเบียบทั้งสอง จึงชี้ให้เห็นว่าลักษณะของระเบียบระหว่างประเทศที่แตกต่างกันส่งผลให้รูปแบบการแทรกแซงมีความแตกต่างตามไปด้วย
คิสซินเจอร์เขียน A World Restored โดยไม่ล่วงรู้ในอนาคตเขาจะมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับกับแวดวงนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน
ช่วงชีวิตของเขาในทำเนียบขาวหลายครั้งต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความเร่งด่วนของสถานการณ์และข้อจำกัดของทางเลือก ตลอดจนต้องฝ่าฟันความยากลำบากในการทำงานกับระบบราชการและการเมืองในโครงสร้างการบริหารของสหรัฐฯ รวมทั้งการรับมือกับมติมหาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายต่างประเทศที่เขามีส่วนในการกำหนด
เส้นทางชีวิตของคิสซินเจอร์กับรัฐบุรุษในคองเกรสแห่งเวียนนาจึงมีภาพที่ซ้อนทับกัน และความคิดทางการเมืองที่ก่อรูปขณะที่เขาศึกษาบทบาทของเมตแตร์นิชและแคสเซิลเรย์ย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเมื่อดำรงตำแหน่งในรัฐบาล โดยเฉพาะโลกทัศน์เกี่ยวกับระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนฉันทามติร่วมกันของรัฐมหาอำนาจเกี่ยวกับหลักพื้นฐานอันชอบธรรมที่ยังคงปรากฎอยู่ในคำให้สัมภาษณ์และงานเขียนที่คิสซินเจอร์ในวัยชรายังคงสร้างสรรค์ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งข้อคิดและประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดเป็นคำปรึกษาแก่ผู้นำรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
เพราะสำหรับคิสซินเจอร์ ความทรงจำและบทเรียนทางประวัติศาสตร์เป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับประกอบการตัดสินใจของผู้นำรัฐ แต่ระยะเวลาอาจทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับบางสิ่งเลือนรางไปเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องล้มหายตายจาก
ประวัติศาสตร์คือความทรงจำของรัฐที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้คน ภารกิจของรัฐบุรุษอย่างคิสซินเจอร์จึงเป็นการใช้ประสบการณ์ที่พ้นผ่านสงครามมากมายในการชี้แนะให้รัฐบุรุษรุ่นใหม่เห็นถึงเงื่อนไขที่เป็นไปได้ในการสร้างสันติภาพและจรรโลงระเบียบระหว่างประเทศที่แม้ว่าจะเต็มไปด้วยข้อจำกัด หากแต่สามารถป้องกันสงครามได้ในทางปฏิบัติ
บทความชิ้นนี้ดัดแปลงจากสารนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง A World Restored: เฮนรี คิสซินเจอร์กับการวิเคราะห์ระเบียบระหว่างประเทศ โดย ร.ท. เสฏฐวุฒิ อุดาการ
[1] Halford Mackinder, Democratic Ideals and Reality: A Study in the Politics of Reconstruction (New York: Henry Holt, 1919), 186. อ้างใน Graham Alison. Destined for War: Can American and China Escape Thucydides’s Trap? (Boston : Houghton Mifflin Harcourt, 2017), p.277
[2] Graham Allison, Destined for War: Can American and China Escape Thucydides’s Trap? (Boston: Houghton Mifflin Harcourt, 2017), p.277
[3] Klaus Heinrich Raditio, Understanding China’s Behavior in the South China Sea: A Defensive Realist Perspective. (Singapore Palgrave Macmillan, 2019) p.77
[4] Kissinger, A World Restored, p..5
[5] Allison, Destined for War. p.375
[6] Kissinger, A World Restored, p.35
[7] Ibid. P.181
[8] Ibid. P.2
[9] Mearsheimer, Bound to Fail, p.16
[10] Ibid P.17
[11] Ronald E. Powaski, Ideals, Interests, and U.S. Foreign Policy From George H.W. Bush to Donald Trump. (New York:Palgrave Macmillan, 2019),pp.237-245.
[12] Kissinger, A World Restored, p.4
[13] Ibid, p.210.
[14] Yael Tamil. Why Nationalism. (Princeton: Princeton University Press,2019), p.31
[15] Mearsheimer, Bound to Fail, p.34
[16] Kissinger, A World Restored, p.200
[17] Alexander Wendt, Social Theory of International Politics. (Cambridge: Cambridge University Press,1999) p.37
[18] Mearsheimer, Bound to Fail, p.42
[19] Kissinger, World Order, p.13
[20] Ibid, p.24
[21] Ibid
[22] Ibid
[23] Samuel P. Huntington. The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. (New York: Simon and Schuster, 1996)
[24] Kissinger, A World Restored, p.35
[25] Ikenberry, Liberal Leviathan, p.303
[26] Martha Finnmore, The Purpose of Intervention: Changing Beliefs about the Use of Force, (New York: Cornell University Press, 2003), pp. 86 – 87
[27] Kissinger, A World Restored. p.265
[28] Mearsheimer, Bound to Fail, p.33