A World Restored: เฮนรี คิสซินเจอร์กับการวิเคราะห์ระเบียบระหว่างประเทศ : บริบทและความสำคัญ

เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน

บริบทและความสำคัญของ A World Restored

         “ในปี ค.ศ.1954 ที่ฮาร์วาร์ด ผมมักจะถูกมองว่าเป็นคนแปลกประหลาดเสมอ รู้สึกว่าเป็นคนนอกตลอดเวลา ผมมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก หนังสือเล่มแรกของผมเกี่ยวกับการทูตในศตวรรษที่ 19 เป็นหนังสือที่คนทั่วไปไม่คิดจะอ่าน แต่มันเป็นหนังสือที่ผมใช้ความพยายามอย่างมากในการเขียน มันเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในปี ค.ศ.1815” – บทสนทนาของคิสซินเจอร์กับ ปธน.ริชาร์ด นิกสัน ณ ห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว ปี ค.ศ.1972[1]

         A World Restored เป็นงานเขียนเล่มแรกในชีวิตของคิสซินเจอร์ที่นอกจะเป็นการปักหลักไมล์แรกในเส้นทางชีวิตนักวิชาการของเขาแล้ว ยังเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงการก่อรูปของความคิดเกี่ยวกับระเบียบระหว่างประเทศของคิสซินเจอร์ ซึ่งจะได้รับการต่อยอดในงานเขียนชิ้นอื่น ๆ ในเวลาต่อมาอย่าง Diplomacy (1994) และ World Order (2014)

        โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอว่าสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนนั้นจะต้องเกิดขึ้นด้วยการยอมรับในหลักพื้นฐานอันชอบธรรม (legitimacy) ระหว่างรัฐมหาอำนาจในระเบียบ อันเป็นสิ่งที่เขาค้นพบจากการย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การทูตหลังสงครามนโปเลียน และระบบคองเกรสแห่งเวียนนา

        ด้วยเหตุนี้ การศึกษางาน A World Restored จึงมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจความคิดเกี่ยวกับระเบียบระหว่างประเทศของคิสซินเจอร์ในวัยหนุ่มซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อเขาก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและ รมว.ต่างประเทศ ตลอดจนในห้วงปัจจุบันที่เขายังมีบทบาททางความคิดต่อผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของระเบียบระหว่างประเทศเสรีนิยม และยังคงวาดหวังที่จะเห็นระเบียบในปี ค.ศ.1815 เกิดขึ้นในบริบทระหว่างประเทศปัจจุบันที่ประกอบด้วยรัฐจำนวนมากขึ้น องค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนความหลากหลายทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และระบบการเมืองจากทั่วทุกมุมโลก[2]

        สำหรับสถานะของ A World Restored ในวงการวิชาการนั้น งานชิ้นดังกล่าวยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัดเมื่อแรกตีพิมพ์ แต่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเมื่อคิสซินเจอร์รับตำแหน่งอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับการเทียบเชิญให้ปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในเวลาต่อมา ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) กล่าวถึง A World Restored ว่าเป็นงานที่วางรากฐานความคิดทางการเมืองของคิสซินเจอร์เกี่ยวกับการทูตแบบดุลแห่งอำนาจ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนโยบายของเขาระหว่างการทำงานในทำเนียบขาว โดยเฉพาะการเน้นความสำคัญของบริบทและเงื่อนไขทางการเมือง สังคม และประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของผู้นำรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และข้อเสนอว่าสันติภาพที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้เกิดจากกฎหมายหรือองค์การระหว่างประเทศ หากแต่เป็นผลลัพธ์ของการจัดการดุลแห่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐมหาอำนาจ ตลอดจนกลไกที่ช่วยยับยั้งความทะเยอทะยานของรัฐใดรัฐหนึ่งในการสถาปนาอำนาจนำเหนือรัฐอื่น ซึ่งช่วยในการธำรงเสถียรภาพในยุโรปได้เป็นระยะเวลานานเกือบหนึ่งศตวรรษ

        กระนั้น ฟูกูยามาก็วิจารณ์ A World Restored ว่าล้มเหลวในการอธิบายสันติภาพในระเบียบระหว่างประเทศในช่วงระยะเวลา 200 ปีที่ผ่านมาที่เขาคิดว่าเป็นไปในแนวทางเสรีนิยมของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียมากกว่าแนวทางอนุรักษ์นิยมของเม็ตแตร์นิช

       ขณะที่โรเบิร์ท ดี. แคปแลน (Robert D. Kaplan) มองว่า A World Restored มุ่งวิเคราะห์อิทธิพลของโลกทัศน์ ลักษณะนิสัย และภูมิหลังของบรรดารัฐบุรุษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกคองเกรสแห่งเวียนนาอย่าง เม็ตแตร์นิช คาสเซิลเรย์ และทัลลีย์รองด์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการชนะสงคราม บทบาทของผู้นำรัฐยังคงมีความสำคัญในการสถาปนาดุลแห่งความหวาดกลัวในเจตนาและขีดความสามารถทางการทหารซึ่งและกันระหว่างรัฐมหาอำนาจ อันเป็นหนึ่งในกลไกของระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนฐานของดุลย์แห่งผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยับยั้งกระแสการปฏิวัติ และพฤติกรรมความทะเยอทะยานของรัฐหนึ่งรัฐใดในการสถาปนาอำนาจนำเหนือรัฐอื่น ๆ[3]

        นอกจากนั้น Quincy Wright นักวิชาการด้านสงครามและยุทธศึกษามองว่าข้อความที่คิสซินเจอร์ต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน A World Restored คือบทเรียนจากประวัติศาสตร์ซึ่งแม้ว่าจะมิได้หมุนทับรอยเดิมอย่างแม่นยำไม่เปลี่ยนแปร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่าง ตลอดจนวิธีการแก้ไขปัญหา และเจตนารมณ์ของตัวแสดงที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก[4]  อันทำให้งานเขียนชิ้นนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูระเบียบหลังสงครามใหญ่ใน 2 มิติ ได้แก่ เนื้อหาที่มุ่งศึกษาการฟื้นฟูระเบียบหลังสงครามนโปเลียน และบริบทของการฟื้นฟูระเบียบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่งานถูกเขียนขึ้นนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตัวแสดง เงื่อนไข และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้ 

        จะเห็นได้ว่าความสนใจในระเบียบระหว่างประเทศที่จรรโลงสันติภาพของคิสซินเจอร์ที่ปรากฏใน Diplomacy และ World Order นั้นได้ริเริ่มมาตั้งแต่ A World Restored ซึ่งเปรียบได้ดั่งหลักไมล์แรกในชีวิตนักวิชาการและรัฐบุรุษของเขา ทว่าสิ่งใดคือแรงจูงใจที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกบทบาทของรัฐบุรุษผู้ทรงภูมิปัญญา (enlightened statesmen) ในการจรรโลงสันติภาพในระเบียบหลังสงครามนโปเลียนเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว งานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไม่ได้ช่วยในการกรุยทางไปสู่เส้นทางนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมากเทียบเท่ากับงานวิชาการด้านรัฐศาสตร์แบบปฏิฐานนิยม (positivism) และในความเป็นจริงก็ไม่ได้ทำให้คิสซินเจอร์ได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ (assistant professorship) ที่ฮาร์วาร์ดหลังจบปริญญาเอกอย่างที่เขาวาดหวังไว้

         คิสซินเจอร์จบย่อหน้าสุดท้ายของ ‘Peace, Legitimacy, and the Equilibrium (A Study of the Statesmanship of Castlereagh and Metternich) วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาในฤดูร้อน ปี ค.ศ.1954 เกือบหนึ่งทศวรรษหลังปฏิบัติหน้าที่พลทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยงานชิ้นดังกล่าวได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น the Senator Charles Sumner Prize จากภาควิชาการปกครองมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับการปรับปรุงเพื่อตีพิมพ์ในอีก 3 ปีต่อมาในชื่อ A World Restored: Metternich, Castlereagh and the Problems of Peace, 1812–1822 หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเฮนรี คิสซินเจอร์

         A World Restored เป็นงานที่คิสซินเจอร์ใช้เวลา 5 ปี (ค.ศ.1950 – 1954) ในการค้นคว้าและเรียบเรียง โดยเขาใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการรวบรวมและศึกษาวรรณกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทูตยุโรปภายหลังการพ่ายแพ้ของนโปเลียน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงบทบาทของรัฐบุรุษผู้เป็นตัวแทนโลกทัศน์อนุรักษ์นิยมอย่างเม็ตแตร์นิชและแคสเซิลเรย์ ในการรักษาระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนฐานของดุลย์แห่งประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐมหาอำนาจ[5] ซึ่งคิสซินเจอร์มองว่ามีความสำคัญต่อการรักษาสันติภาพในยุโรปเป็นเวลานานหลายทศวรรษ

        การเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเขานั้นนับว่าสวนทางกับนักศึกษาปริญญาเอกคนอื่น ๆ ที่มุ่งหยิบยกประเด็นร่วมสมัยมาศึกษา ขณะที่คิสซินเซอร์กลับเลือกที่จะย้อนกลับไปยังยุโรปในศตวรรษที่ 19 เพื่อสำรวจความคิดทางการเมือง แบบแผนพฤติกรรม และการตัดสินใจทางนโยบายต่างประเทศของผู้นำรัฐมหาอำนาจยุโรปอย่างออสเตรีย อังกฤษ รัสเซีย ในการตอบสนองความกระหายทางวิชาการของตนเอง[6]

        คิสซินเจอร์อุทิศ A World Restored แด่ Williams Yandell Elliott นักประวัติศาสตร์ อาจารย์ และที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาที่ฮาร์วาร์ด ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนคิสซินเจอร์ให้พากเพียรเขียนงานวิชาการดังกล่าวจนเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Elliot จะเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเมืองให้กับ ปธน.สหรัฐฯ หลายสมัย ตลอดจนมีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของคิสซินเจอร์ ทั้งในด้านโลกทัศน์แบบอนุรักษ์นิยม และการผสมผสานความเป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติเข้าด้วยกัน แต่เขากลับมีส่วนให้คำแนะนำปรึกษาในการเขียน A World Restored ไม่มากนัก

        เนื่องจากคิสซินเจอร์เลือกที่จะมุ่งทบทวนวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์การทูตด้วยตนเองมากกว่าขอคำปรึกษาจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญอย่าง Elliot, A.J.P. Taylor หรือ William Langer อันสะท้อนให้เห็นว่าคิสซินเจอร์เขียน A World Restored ขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างของตัวเขาเอง ซึ่งอาจหมายถึงความนิยมชมชอบในตัวเม็ตแตร์นิช แคสเซิลเรย์ และรัฐบุรุษคนอื่น ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคิสซินเจอร์ในวัยหนุ่ม และมีส่วนสำคัญในการสร้างโลกทัศน์เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศที่จะยังคงอยู่สืบไปกระทั่งเขาสู่ทำเนียบขาวในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของ ปธน.ริชาร์ด นิกสัน ในปี ค.ศ.1969

            A World Restored มุ่งเน้นสำรวจบทบาททางทหารต่อการดำเนินนโยบายการทูต[7] ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะงานดังกล่าวถูกเขียนขึ้นหลังจากเขาสวมคอมแบทแบกปืนร่วมรบกับกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ.1943 – 1946 ประสบการณ์ในสมรภูมิทำให้คิสซินเจอร์สนใจความสามารถของทหารในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองด้วยวิธีการต่าง ๆ และอาจพัฒนาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาลงแรงค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความพ่ายแพ้ของแม่ทัพเอกอย่างนโปเลียน และการสถาปนาฟื้นฟูระเบียบอนุรักษ์นิยม เมื่อเข้าศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในอีกหลายปีต่อมา

           ใน A World Restored คิสซินเจอร์มองความสัมพันธ์ระหว่างการทูตและการใช้กำลังทางทหารในฐานะปัจจัยที่หนุนเสริมกันและกัน[8] ซึ่งในเวลาต่อมาโลกทัศน์ดังกล่าวได้มีอิทธิพลสำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้แสงยานุภาพทางการทหารควบคู่ไปกับการเจรจาสันติภาพในสงครามเวียดนาม

          นอกจากนั้น คิสซินเจอร์ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายเพื่อความอยู่รอดของรัฐเล็กที่ไม่มีขีดความสามารถทางการทหารทัดเทียมรัฐใหญ่อย่างออสเตรีย ซึ่งสามารถรักษาสถานภาพเดิมของตนเองไว้ได้ด้วยการหว่านล้อมให้รัฐอื่นร่วมกันสร้าง ‘ฉันทามติทางจริยธรรม’ (moral consensus) ที่ตั้งอยู่บนดุลย์แห่งผลประโยชน์ของรัฐภายในภูมิภาค โดยที่ออสเตรียไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองภายในเพื่อตอบโต้การลุกฮือของกระแสเสรีนิยมและชาตินิยมแต่อย่างใด

          คิสซินเจอร์ยกย่องผลงานดังกล่าวว่าเป็นความปรีชาสามารถของรัฐบุรุษอย่างเม็ตแตร์นิชที่กล่าวได้ว่าเป็นตัวละครเอกของ A World Restored ที่เขาให้ความสำคัญในการศึกษาตั้งแต่ประวัติ ความคิดทางการเมือง และบทบาทในการจรรโลงระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามนโปเลียนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของออสเตรีย

          กรณีนี้จึงอาจวิเคราะห์ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่คิสซินเจอร์เลือกเขียน A World Restored ขึ้นมาก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการตัดสินใจทางนโยบายที่หลักแหลมภายใต้ข้อจำกัดนานัปการของรัฐบุรุษหรือผู้นำ อันช่วยให้สามารถประคับประคองรัฐให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ไปได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาบริบทแวดล้อมระหว่างประเทศที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูระเบียบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเผชิญหน้ากันของสหรัฐฯ คิสซินเจอร์มองสหภาพโซเวียตใต้การนำของสตาลินไม่ต่างจากฝรั่งเศสของจักรพรรดินโปเลียนหรือเยอรมนีของฮิตเลอร์ซึ่งมีพฤติกรรมของรัฐที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม (revolutionary power) ตลอดจนวิพากษ์นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดการต่อการผงาดของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

          สำหรับคิสซินเจอร์ หัวใจสำคัญในการต่อกรกับรัฐที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม คือ การสถาปนาระเบียบระหว่างประเทศที่ไม่มีรัฐมหาอำนาจใดไม่พอใจต่อสถานภาพเดิมของตนเอง ยินดีกับผลประโยชน์ที่ได้รับ และไม่พยายามแสวงหาหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบนั้น[9] โดยการสร้างระเบียบดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจของรัฐมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรืออีกกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ารัฐมหาอำนาจต้องเห็นชอบร่วมกันในหลักพื้นฐานทางจริยธรรม (moral principle) บางประการที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ระเบียบดังกล่าวจึงจะมี ‘ความชอบธรรม’ (legitimacy) และสามารถรักษาเสถียรภาพไว้ได้อย่างยั่งยืน

          อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่ A World Restored ถูกเขียนขึ้น คิสซินเจอร์มองว่าระบบดุลแห่งอำนาจที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1951 และ ค.ศ.1815 นั้นมีความแตกต่างกันด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ ความเห็นชอบร่วมกันในคุณค่าพื้นฐาน (basic values) ในระเบียบ และบทบาทของผู้รักษาสมดุลจากนอกภูมิภาค (outside balancer)[10] อันทำให้วิธีในการรักษาเสถียรภาพภายในระเบียบต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและเงื่อนไขที่เกิดขึ้น

           ด้วยเหตุนี้ คิสซินเจอร์จึงให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของรัฐบุรุษดังที่เขาจงใจเขียนอภิปรายไว้ในบทสุดท้ายของ A World Restored ชื่อ ‘ธรรมชาติของความเป็นรัฐบุรุษ’ (The Nature of Statesmanship) ซึ่งวิเคราะห์เจตนารมณ์และโลกทัศน์ต่อระเบียบที่แตกต่างกันของของเม็ตแตร์นิชและแคสเซิลเรย์ ตลอดจนโศกนาฏกรรมของรัฐบุรุษที่ต้องทำงานและตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ ระบบราชการ มติของประชาชน และการเมืองภายในประเทศ ซึ่งทำให้การผลักดันนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นไปอย่างยากลำบากและเต็มไปด้วยความท้าทาย

           นอกจากนั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ทางการเมืองของคิสซินเจอร์ในวัยหนุ่มที่ชื่นชมในผลงานของรัฐบุรุษที่ทำงานภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม[11] ซึ่งเขามองว่าเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายต่างประเทศ เนื่องจากได้รับความชอบธรรมจากสายสัมพันธ์กับประชาชนที่สืบเนื่องมาแต่รูปแบบการปกครองโบราณ แตกต่างจากรัฐบุรุษในรัฐที่มีโครงสร้างทางการเมืองแบบเสรีนิยมที่แม้ว่าจะมีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกล แต่ก็ไม่สามารถจูงใจให้ประชาชนที่มีความรู้และประสบการณ์จำกัดให้เห็นชอบในนโยบายที่เสนอได้ อันนับว่าย้อนแย้งกับบทบาทและหน้าที่ของคิสซินเจอร์ในเวลาต่อมาซึ่งต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันในหลากหลายกรณี

            โดยสรุป A World Restored เป็นงานที่มีความสำคัญต่อการศึกษาการวิเคราะห์ระเบียบระหว่างประเทศของคิสซินเจอร์ในหลากหลายประเด็น แต่มีประเด็นจำนวนหนึ่งที่เราสามารถหยิบยกขึ้นมาศึกษาเปรียบเทียบกับบริบทการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันซึ่งระเบียบเสรีนิยมกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการ ได้แก่

            1) ความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในระเบียบระหว่างประเทศ ทั้งการสกัดกั้นและรับมือกับรัฐปฏิวัติฝรั่งเศสของออสเตรียและอังกฤษ ตลอดจนการวางรากฐานสถานภาพเดิมทางอาณาเขต (territorial status quo) ของยุโรป

            2) ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างภายในกับระเบียบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายของเมตแตร์นิชเพื่อผดุงรักษาความมั่นคงของเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์ภายในออสเตรีย

            3) การสถาปนาหลักความชอบธรรมของระบบกษัตริย์ (dynastic legitimacy) เพื่อเป็นรากฐานของระบบดุลแห่งอำนาจและความมั่นคงร่วมในยุโรป

            4) สิทธิในการแทรกแซงกิจการภายใน ดังกรณีที่เมตแตร์นิชใช้พันธมิตรศักดิ์สิทธิ (holy alliance) เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงและปราบปรามขบวนการปฏิวัติในยุโรป

ซึ่งจุดประสงค์ของบทความชิ้นนี้ คือ การสำรวจหน่วยความคิดทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวเพื่อหยิบยกมาเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงในระเบียบระหว่างประเทศปัจจุบัน ไม่ต่างจากคิสซินเจอร์เขียน A World Restored ขึ้นเพื่อย้อนเวลากลับไปศึกษาบทบาทของรัฐบุรุษและกลไกที่ช่วยสร้างและธำรงสันติภาพเป็นเวลานานเกือบหนึ่งศตวรรษ ดังที่เขาเขียนไว้ว่า

           “มันไม่ใช่เรื่องผิดที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติของประวัติศาสตร์เพื่อชี้ให้เห็นว่านโปเลียนไม่ใช่ฮิตเลอร์ แคสเซิลเรย์ หรือเชอร์ชิลล์ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ (ของเรื่องที่ศึกษา) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเหมือนกัน (ของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์) แต่ขึ้นอยู่กับความคล้ายคลึงกันของปัญหาที่ต้องเผชิญ”[12]

 

บทความชิ้นนี้ดัดแปลงจากสารนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง A World Restored: เฮนรี คิสซินเจอร์กับการวิเคราะห์ระเบียบระหว่างประเทศ โดย ร.ท. เสฏฐวุฒิ อุดาการ

 

[1] Niall Ferguson, Kissinger Volume 1 The idealist, p.367

[2] Stephen Chan, Plural International Relations in a Divided World, (New York: Polity, 2017), p.159

[3] Robert D. Kaplan, “Kissinger, Metternich, and Realism” The Atlantic Monthly, Vol.283, No.6 (June, 1999): 73-82.

[4] Quincy Wright, “A World Restored: Metternich, Castlereagh and the Problems of Peace, 1812–22 Review” The American Historical Review, Vol.63, Issue 4 (July,1958): 953–955.

[5] Ferguson, Kissinger Volume 1 1923 – 1968, p.328.

[6] Ibid, p.329.

[7] Ibid, p.331.

[8] Henry Kissinger, A World Restored: Metternich, Castlereagh and the Problems of Peace, 1812–22 (Boston: Houghton Mifflin Company, 1957), p.13

[9] Ferguson, Kissinger Volume 1 1923 – 1968, p.684.

[10] Ibid, p.355

[11] Kissinger, A World Restored, p.329

[12] Kissinger, A World Restored, p.311