สิทธิและเสรีภาพในการก่ออัตวินิบาตกรรม: บทสำรวจทัศนะของปวงปราชญ์ตะวันตกผู้ล่วงลับ

สิทธิและเสรีภาพในการก่ออัตวินิบาตกรรม: บทสำรวจทัศนะของปวงปราชญ์ตะวันตกผู้ล่วงลับ
เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน

“To die, to sleep. To sleep, perchance to dream—ay, there’s the rub, For in that sleep of death what dreams may come” – Williams Shakespeare จากบทละครเรื่อง ‘Hamlet’

            บทความชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ ‘Stay: A History of Suicide and The Philosophies Against It’ โดย Jennifer Michael Hecht ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้เขียนมองว่าสามารถพิจารณาสิทธิและเสรีภาพในการ ‘ปลิดชีพตนเอง’ ผ่านมุมมองทางปรัชญาตั้งแต่โลกโบราณมาจนถึงสมัยใหม่ได้เป็นลำดับขั้นตอน และไม่เคร่งเครียดจนเกินไปนัก บทความชิ้นนี้จึงเป็นความเรียงเล่าเรื่องหรือบทสรุปมากกว่าบทความวิชาการ โดยเหตุนี้หลายส่วนของบทความจึงเป็นการหยิบยกมาจากหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจและสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้คนร่วมสมัยมีต่อการฆ่าตัวตาย

ประวัติศาสตร์การก่ออัตวินิบาตกรรมในโลกแห่งปรัชญานั้นสามารถสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปได้นับพันปี ตั้งแต่นักปรัชญาการเมืองผู้ยิ่งใหญ่อย่างโซเครตีส ‘ยินยอมและจงใจ’ ดื่มยาพิษปลิดชีพด้วยน้ำมือตนเองทั้งๆ ที่มีโอกาสหนีเพื่อยืนกรานในหลักคำสอนและยืนหยัดในฐานะผู้ที่เคารพกฎหมายบ้านเมืองของตนเอง ถึงกระนั้น งานของเพลโตที่เขียนเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของอาจารย์ก็กระซิบบอกเราว่าแม้โซเครตีสจะเรียกหายาพิษจากดอกเฮมล็อก (hemlock) เพื่อปลิดชีวิตด้วยน้ำมือตนเอง (โปรดดูภาพ ‘The Death of Socrates’ ของ Jacques-Louis David ประกอบ) แต่เขากลับบอกสายานุศิษย์ที่มาร่วมอาลัยอาจารย์ในสถานคุมขังว่าการก่ออัตวินิบาตกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ผิด และโน้มน้าวให้คนอื่นจงดำรงอยู่ต่อไปเนื่องเพราะชีวิตเราเป็นของพระเจ้า และมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะบอกเราได้ว่าเมื่อใดที่การจากจรจะมาเยือน

หลังจากเป็นประจักษ์พยานกับการปลิดชีพตนเองของอาจารย์ ศิษย์เอกอย่างเพลโตก็ยังติดใจกับประเด็นความชอบธรรมของการก่ออัตวินิบาตกรรมจนนำมาขยายความเพิ่มเติมใน ‘The Law’ หนังสือเลื่องชื่อของเขาอีกเล่มหนึ่ง โดยเพลโตมองว่าการปลิดชีพตนเองนั่นเป็นสิ่งที่กระทำได้และมิใช่เรื่องเสียหาย ‘หาก’ การกระทำเช่นว่านั้นสอดคล้องกับกฎหมายบ้านเมืองหรือเกิดจากการบังคับของรัฐ และหากว่าการทำเช่นนั้นเป็นผลมาจากความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหรือความอับอายขั้นรุนแรงจนมิอาจดำรงอยู่ในสังคมได้

สำหรับเพลโต เหตุผลเดียวที่จะทำให้การก่ออัตวินิบาตกรรมเป็นเรื่องต้องห้าม คือ การฆ่าตัวตายเนื่องเพราะอ่อนแอเกินกว่าที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงในชีวิต (vicissitude of life) ซึ่งหมายถึงความรู้สึก ‘เศร้าสร้อยเหงาซึม’ ที่มนุษย์ปุถุชนล้วนต้องพานพบอยู่เป็นประจำร่ำไปในชีวิตประจำวัน ในขณะที่เจเนอเรชั่นสุดท้ายของสามนักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่อย่างอริสโตเติ้ลยืนยันว่าอัตวินิบาตกรรมเป็นสิ่งที่ผิดอย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นสำหรับการสละชีพเพื่อแผ่นดิน แต่การกระทำเยี่ยงวีรบุรุษก็ยังเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงสำหรับคนหนุ่มสาวที่อาจจะนำชีวิตเข้าไปเกี่ยวพันกับภยันตรายภายใต้อิทธิพลทางความเชื่อโดยไม่จำเป็น

จะเห็นได้ว่าแนวคิดว่าด้วยเรื่องการก่ออัตวินิบาตกรรมในมุมมองของปรัชญาเมธีกรีกโบราณทั้งสามคนขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการตัดสินใจลงมือปลิดชีพตนเองเป็นหลัก โดยเฉพาะหากความตายนั้นตั้งอยู่บนฐานของการเสียสละเพื่อส่วนรวมหรือบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการหลบหนีชีวิตอันทุกข์ระทมของตนเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อประวัติศาสตร์อารยธรรมเลื่อนเข้าสู่สมัยโรมันซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญาสำนักสตออิก (stoic) ความตายกลายเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะหัวใจของปรัชญาสำนักสตออิกคือ การรู้รักษาเอาตัวรอด (self-preservation) และการมองชีวิตอย่างที่มันเป็น

ถึงกระนั้น ปรัชญาสำนักสตออิกก็เปิดช่องว่างสำหรับการฆ่าตัวตายในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างการเอาตัวรอดทางกาย (biological) และทางใจ/ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) กล่าวคือ หากรัฐบังคับให้เราต้องนับถือศาสนาใดหนึ่งเพียงอย่างเดียวมิฉะนั้นจะต้องถูกประหารชีวิตและเราไม่เห็นด้วยกับคำสั่งอันเป็นเผด็จการของรัฐนั้น เพื่อที่จะรักษาความเป็นเหตุเป็นผลหรือพลังศรัทธาอันเป็นคุณค่าทางใจที่เรามองว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิต เราอาจยอมถูกประหารชีวิตดีกว่าทนอยู่อย่างมีร่างกายครบสามสิบสองแต่พิการทางใจ อย่างไรก็ดี ในสมัยโรมันนี่เองที่การปลิดชีพตนเองกลายเป็นสิ่งต้องห้ามโดยมีนัยยะทางชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ภูมิปัญญาการจัดรูปแบบการปกครองของจักรวรรดิโรมันนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการด้านการเมืองการปกครองของมนุษย์ สังคมที่ใหญ่และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นย่อมต้องอาศัยกำลังคนจำนวนมาก โดยเฉพาะโรมันที่ต้องสู้รบทำศึกกับอริศัตรูตลอดเวลา ทหารและทาสจึงเป็นกำลังสำคัญที่ต้องมีชีวิตรอดเพื่อความมั่นคงของจักรวรรดิ

ด้วยเหตุนี้ การดำรงอยู่เพื่อคนอื่นในฐานะ ‘หน้าที่’ ไม่ว่าโดยความสมัครใจหรือไม่จึงกลายเป็นปัจจัยที่ตัดสินว่าการจบชีวิตตนเองด้วยเหตุผลส่วนตัวเป็นสิ่งที่ผิด เนื่องเพราะ ‘เจ้าชีวิต’ ของทหารและทาสเหล่านั้นเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิขาดในการกำหนดชะตากรรมของพวกเขา

นักปรัชญายุคโรมันผู้ยิ่งใหญ่อย่างมาร์คุส ซิเซโร กล่าวในงานเขียนชื่อ ‘Tasculan Disputations’ ว่า “ความตายอันทรงเกียรติโดยสมัครใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองนั้น มิเพียงแต่ได้รับการโจษจันว่าเป็นการกระทำที่มีเกียรติยิ่งในหมู่นักพูด หากแต่ยังมอบความสุขให้แก่ผู้ตายอีกด้วย” ถ้อยแถลงข้างต้นของซิเซโรสะท้อนให้เราเห็นว่าการเสียสละชีวิตเพื่อ ‘สิ่งที่ยิ่งใหญ่’กว่าประโยชน์หรือความทุกข์ระทมส่วนตนเช่นประโยชน์สาธารณะนั้นเป็นเป็นสิ่งที่นอกจากจะได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคมแล้ว ยังมอบความสุขให้แก่ผู้ตั้งมั่นที่จะสละชีวิตผู้นั้นด้วย

หนึ่งในตัวอย่างของการก่ออัตวินิบาตกรรมประเภทนี้อาจเห็นได้จากการตัดสินใจของ  ‘ปอร์เชีย คาทอนิส’ ภริยาคนที่สองของ ‘บรูตุส’ นักการเมืองผู้พยายามลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ ในการจบชีวิตตนเองตามสามีเมื่อแผนการดังกล่าวล้มเหลว เธอได้รับการเชิดชูจากคนรุ่นหลังภริยาผู้ทุ่มเทชีวิตในการรับใช้สามีอันสอดคล้องกับตำแหน่งแห่งที่ของสตรีในสังคมโบราณ ในทางกลับกัน มาร์ค อันโทนี่  (มาร์คุส อันโทนิอุส) นักการเมืองผู้เป็นหนึ่งในสามผู้ปกครองโรมันภายหลังการตายของจูเลียส ซีซาร์ และชายคนรักของพระนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ผู้เลอโฉมกลับมิได้รับการสรรเสริญมากนัก เมื่อเขาใช้ดาบสังหารตนเองตามราชินีคนรักเนื่องเพราะความตายของเขาเกิดแต่ความอาลัยในรักซึ่งจัดได้ว่าเป็นการตายด้วยความสิ้นหวังในชีวิต มิใช่การเสียสละเพื่อบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์ส่วนตัว

เมื่อพิจารณาโลกทัศน์ทางปรัชญาต่อการก่ออัตวินิบาตกรรมในสมัยกรีกโบราณและโรมันจะเห็นได้ว่าการปลิดชีพตนเองที่มีความ ‘ชอบธรรม’ และได้รับการยอมรับจากสังคมนั้นจะต้องเป็น ‘การตายอย่างมีคุณค่า’ หรือไม่เปล่าประโยชน์ เช่น การเสียสละเพื่อปกป้องรักษาเกียรติของวงศ์ตระกูลหรือความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมืองดังที่เราจะเห็นได้จากการยกย่องเชิดชูวีรกรรมของ ‘วีรชน’ จากมหากาพย์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘The Great Books’ ทั้งหลาย อาทิ อิเลียดและโอดิสซีของมหากวีโฮเมอร์, เป็นต้น

กระนั้น เราก็มิอาจปฏิเสธอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อในฐานะปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ‘จะอยู่หรือไป’ (to live or to die) ของปัจเจกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจเดินหน้าเข้าหาความตายด้วยการพลีชีพ (martyr) ไม่ว่าโดยในนามของศาสนาหรือภายใต้การผลักดันของพลังศรัทธา นอกจากนั้นการฆ่าตัวตายจากความรู้สึกผิด-ละอายใจ (guilt) หรือความเกรงกลัวต่อบาป (sin) ก็เป็นพฤติกรรมที่เป็นผลโดยตรงมาจากความเชื่อทางศาสนาที่สถาปนาลงในสังคมและกลายเป็นสิ่งที่กำกับชีวิตประจำวันของผู้คนหรือที่ปิแอร์ บูร์ดิเยอ นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสขนานนามว่า ‘Habitus’ เช่น การรักษาพรหมาจารีของหญิงคริสเตียนที่ปกป้อง ‘ความบริสุทธิ์’ ของเธอและลูกสาวทั้งสองด้วยการกระโดดน้ำตายเพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของทหารและการคุกคามทางเพศที่เธอหวาดกลัวว่าจะเกิดขึ้นหากถูกจับทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจ อย่างไรก็ดี

งานเขียนของออกัสตินแห่งฮิปโปหรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘เซนต์ออกัสติน’ ซึ่งนับได้ว่าเป็น ‘คนใน’ เมื่อคำนึงถึงสถานภาพนักบวชของเขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปลิดชีพตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ในสถานะคนบาปทางเพศ (sexual sin) ว่าการถูกละเมิดทางเพศจนสูญเสียพรหมจรรย์นั้นหาได้เป็นความผิดบาปของหญิงที่ตกเป็นเหยื่อแต่อย่างใด และด้วยเหตุนั้นพวกเธอจึงไม่ควรปลิดชีพตนเองด้วยความละอายใจหรือเกรงกลัวต่อบาปอันเกิดจากความรู้สึกแปดเปื้อน, มีมลทิน หรือไม่บริสุทธิ์อีกต่อไป ออกัสตินถึงกับแสดงจุดยืนต่อต้านการฆ่าตัวตายอย่าง ‘จัดหนักจัดเต็ม’

ในงานเขียนชิ้นสำคัญอย่าง ‘City of God’ ซึ่งเขาวิพากษ์การกระทำดังกล่าวว่าเป็นอาชญากรรมที่น่ารังเกียจและบาปที่เลวทราม “มนุษย์ไม่ควรที่จะบังคับตนเองไปพบจุดจบโดยสมัครใจและก็ไม่ควรที่จะทำอย่างเดียวกันเพื่อผละหนีจากความรู้สึกละอายจากบาปที่ผู้อื่นเป็นคนก่อ และมนุษย์ก็ไม่ควรก่อบาปอันใหญ่หลวง (ด้วยการฆ่าตัวตาย-ผู้เขียน) เพียงเพื่อลบล้างบาปของตนเอง เพราะเขามีเวลาเหลือเฟือทั้งชีวิตสำหรับการล้างบาปด้วยการสำนึกผิด ผู้ที่ปลิดชีพด้วยน้ำมือตนเองย่อมไม่พานพบกับชีวิตหลังความตายที่ดีกว่า (การมีชีวิตอยู่ต่อไป)” ความเคลื่อนไหวของออกัสตินได้สร้างแรงกระเพื่อมลูกใหญ่และนำมาสู่การออกกฎหมายห้ามการพลีชีพโดยสมัครใจ (voluntary martyr) ในการประชุมของเหล่าบิชอป Council of Arles และในการประชุมครั้งต่อๆ ไปก็มีการออกบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฆ่าตัวตาย เช่น การงดประกอบพิธีทางศาสนาในงานศพซึ่งในท้ายที่สุดความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในศาสนาคริสต์ก็พัฒนากลายมาเป็น ‘บาปที่ร้ายแรง’ เนื่องจากเป็นการกระทำที่เปรียบดังการขโมยสิทธิในชีวิตไปจากพระเจ้าและละทิ้งช่วงเวลาสำนึกผิดในชีวิตที่เหลืออยู่

ดังนี้ เราจึงเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สิทธิและเสรีภาพในการตายของมนุษย์ได้กลายเป็นของพระเจ้าโดยสมบูรณ์ และตัวแทนของพระเจ้าคือพระสันตะปาปาและคริสตจักรเป็นผู้มีสิทธิขาดในระงับการกระทำที่ได้ชื่อว่าเป็นบาปอันหนักหนาดังกล่าวและลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างหนัก

นอกจากเซนต์ออกัสตินแล้ว ในยุคกลางยังมีนักบวช-นักปรัชญาเลื่องนามอีกคนที่สนับสนุนการห้ามก่ออัตวินิบาตกรรมอย่างแข็งขัน เขาผู้นั้นคือ โธมัส อะไควนัส บาทหลวงชาวอิตาเลียนผู้วางรากฐานความคิดเรื่องเจตจำนงของพระเจ้าในสำนักกฎหมายธรรมชาติ โดยอะไควนัสได้ให้เหตุผล 3 ประการที่คริสตชนไม่ควรได้รับการอนุญาตให้ปลิดชีพตนเอง

ได้แก่

  1. การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่ชุมชนที่ผู้ตายอาศัยอยู่
  2. มันขัดต่อกฎธรรมชาติที่มนุษย์นั้นต้องรักตัวเองเพื่อปกป้องรักษาเผ่าพันธุ์ให้อยู่รอด
  3. มันเป็นละเมิดหน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า เหตุผลประการสุดท้ายของอะไควนัสเชื่อมโยง ‘สิทธิครอบครอง’ หรือ ‘ความเป็นจ้าวชีวิต’ เข้ากับความเป็นพระผู้สร้างของพระเจ้า

ด้วยเหตุนี้คริสตชนจึงต้องปฏิบัติตนต่อพระเจ้าเสมือนบุตรที่เชื่อฟังบิดา และไม่กระทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนสิทธิอำนาจของพระบิดาเช่นการพรากชีวิตตนเองไปจากการดูแลครอบครองของพระองค์ การฆ่าตัวตายนับตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมาจึงกลายเป็นบาปขั้นสูงสุดในทางคริสต์ศาสนา

เมื่อยุคมืดได้มาถึงจุดสิ้นสุด ในรุ่งอรุณของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือเรอเนซองส์ (renaissance) ได้มีการรื้อฟื้นงานเขียนคลาสสิคในสมัยกรีก-โรมันมากมาย ทั้งงานของนักคิดสำนักเอพิคคิวเรียนิสม์, สตออิกซิสม์ ซึ่งถูกใช้เป็นเอกสารอ้างอิงประกอบการเขียนข้อถกเถียงต่อต้านการฆ่าตัวตายของนักวิชาการในยุคเรอเนซองส์ อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษที่ 16 มุมมองทางปรัชญาต่อการก่ออัตวินิบาตกรรมเริ่มมีทิศทางไปในแง่บวกมากยิ่งขึ้น ตัวแปรสำคัญคือการขยายตัวของพื้นที่ทางสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนทั้งในบริบทของการเมืองและศาสนา ในขณะที่ปัจเจกชนเริ่มมีปากมีเสียงในการเมืองการปกครองมากขึ้น พวกเขาก็สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยไม่ต้องผ่าน ‘ตัวกลาง’ อย่างคริสตจักรอีกต่อไป

กล่าวคือสิ่งที่มาพร้อมกับเสรีภาพทางการเมืองที่หลุดพ้นจากการถูกควบคุมโดยคริสตจักร คือ อิสระในการเลือกและกำหนดชะตาชีวิตของตนโดยไม่ต้องอ้างอิงอำนาจที่เหนือกว่าอย่างพระผู้เป็นเจ้า นักปรัชญาในยุครุ่งเรืองของเหตุผล (age of reason) จึงหันเหความสนใจจากการมุ่งค้นหาวิวรณ์หรือการเปิดเผย (revelation) ความจริงของพระเจ้ามาศึกษามนุษย์และบริบทใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น การตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์และการเกิดขึ้นของสังคมกลายเป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยของโลกตะวันตกในศตวรรษที่ 17-18 นอกจากนั้นช่วงเวลาดังกล่าวยังให้กำเนิดนักปรัชญาสองสายตามการตั้งข้อสังเกตของ Immanuel Kant ได้แก่ นักปรัชญาสายเหตุผลนิยม (rationalist) และนักปรัชญาสายประจักษ์นิยม (empiricism) โดยนักปรัชญาทั้งสองสายต่างมีความเชื่อร่วมกันต่อศักยภาพในการค้นหาความจริงของมนุษย์ หากแต่มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน หนึ่งในนักปรัชญาสายประจักษ์นิยมคนสำคัญที่มีงานเขียนเกี่ยวกับการก่ออัตวินิบาตกรรมโดยตรง คือ เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญาชาวสกอตต์ เจ้าของผลงาน ‘On Suicide’ ที่เขียนขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1750s

ใน ‘On Suicide’ ฮูมได้แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิในการปลิดชีพตนเองของปัจเจกชนอย่างขันแข็ง เขาตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจว่า “หากการฆ่าตัวตายเป็นบาปเพียงเพราะมันเป็นขัดเจตนารมณ์ของพระเจ้าที่ยังไม่ต้องการให้เราตายในเวลานี้ ฉะนั้นการกระทำอย่างอื่นของมนุษย์ เช่น การสร้างบ้าน การเก็บเกี่ยวพืชผล ตลอดจนการสร้างเรือเพื่อล่องในทะเลก็ย่อมเป็นการกระทำอันเป็นบาปด้วย เพราะพระเจ้าไม่ได้กำหนดหรือสั่งให้เราสร้างบ้านหรือเก็บเกี่ยว ด้วยเหตุนี้ การรักษาเอาตัวรอดของมนุษย์ก็ย่อมผิดบาปพอๆ กับการทำลายชีวิตด้วยเช่นกัน หากคิดตามตรรกะนี้” ข้อเขียนข้างต้นของฮูมนับได้ว่าเป็นการฉีกกระชากม่านความเชื่อโบราณของชาวคริสต์ที่มองว่าการดำรงอยู่ของมนุษย์คือความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากนี้ ฮูมยังก้าวไปไกลกว่านั้น โดยเขาแย้งว่า “พระเจ้าไม่ได้นำมนุษย์มาวางเรียงกันบนโลกดังนายพลสั่งให้ทหารเข้าประจำที่ในสนามรบ ทว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากสายโซ่แห่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากแบบแผนเฉกเช่นเดียวกับทางเลือกของมนุษย์ที่ไม่มีการกำหนดไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงไม่มีสิทธิเหนือการฆ่าตัวตายของมนุษย์มากไปกว่าผู้พิพากษาที่มีสิทธิตัดสินประหารชีวิตคน ฮูมสนับสนุนการจบชีวิตตนเองของปัจเจกชนหากความตายนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชมและสังคมโดยร่วม เช่น ความตายของบุคคลอันตราย (pernicious person) หรือแม้กระทั่งการจบชีวิตลงของคนที่รู้ตัวว่าตนเองกลายเป็น ‘ภาระ’ ของสังคม

จุดยืนของฮูมในงาน ‘On Suicide’ ของเขากลายเป็นฐานรากของกระแสสนับสนุนสิทธิในการก่ออัตวินิบาตกรรมในปัจจุบัน

นอกจากฮูมแล้ว นักคิดนักเขียนร่วมสมัยที่นักอ่านทั่วโลกจดจำในฐานะผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง ‘Candide’ อย่างวอลแตร์ (Voltaire) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาท้าชนศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกในที่สาธารณะ ใน ‘On Cato: Of Suicide’ งานเขียนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก วอลแตร์โจมตีคริสตจักรอย่างหนักโดยเฉพาะประเด็นการลงโทษคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ฆ่าตัวตาย เช่น การยึดทรัพย์สินของครอบครัว จะเห็นได้ว่านักคิดที่สนับสนุนการก่ออัตวินิบาตกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ คริสตจักรร่วมกันทั้งสิ้น อันเป็นผลมาจากความรุ่งเรืองของเหตุผลที่ส่องสว่างขึ้นมาภายหลังยุคมืดอันยาวนานหลายศตวรรษ จารีตและธรรมเนียมข้อบังคับของคริสตจักรที่แลดู ‘ไร้เหตุผล’ ของนักคิดเหล่านี้จึงตกเป็นเป้าของการถูกโจมตีมิใช่เพียงเฉพาะสิทธิในการฆ่าตัวตายเพียงประการเดียว

           ด้วยเหตุนี้จึงชวนให้ขบคิดว่าจุดยืนของบรรดานักคิดในยุคภูมิธรรมเหล่านี้ต่อการก่ออัตวินิบาตกรรมจะเป็นเช่นไร หากคริสตจักรมิได้ห้ามและกำหนดบทลงโทษผู้กระทำการดังว่าไว้โหดร้ายเช่นนี้