สำรวจความคิดทางการเมืองของ Jacque Rancière: ว่าด้วยความขัดแย้งและความเสมอภาคทางการเมือง

Ranciere-field

สารบัญ

เสฏฐวุฒิ อุดาการ เขียน

บทนำ

“There is politics when there is a disagreement about what is politics, when the boundary separating the political from the social or the public from the domestic is put into question”    From ‘Dis-agreement’, Jacque Rancière

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา หลากหลายทัศนะมองว่าประเทศไทยได้แปรสภาพจาก ‘สยามเมืองยิ้ม’ กลายเป็น ‘สมรภูมิแห่งความขัดแย้ง’ ที่บั่นทอนทำลาย ‘ความสามัคคี’ ระหว่างคนไทยที่สร้างสมเนิ่นนานมาแต่อดีตให้แตกแยกเป็นฝั่งฝ่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน? เมื่อสงครามการเมืองดำเนินล่วงเลยไปหลายปี ผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมายที่เป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์การเมืองไทย กระแสของความเหนื่อยหน่ายต่อวังวนความขัดแย้งระหว่างพรรคและกลุ่มต่างๆ ที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นท่ามกลางกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองก็ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดกลายเป็นความรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อการเมือง (political antagonism) อันนำมาซึ่งการเรียกร้องให้เกิดการ ‘ปรองดองสมานฉันท์’ (reconciliation) อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ความสำคัญถึงขั้นประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะกระบวนการหลอมรวมสีเสื้อ, หยุดการแบ่งฝักฝ่าย และยุติความขัดแย้งทางการเมืองทุกรูปแบบภายใต้กฎอัยการศึก

สภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนประหวัดนึกถึงนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่พิจารณา ‘ความขัดแย้ง’ ด้วยมุมมองที่แตกต่างไปจากผู้มีอำนาจในสังคมไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งจากการติดตามแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างใกล้ชิดผู้เขียนพบว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะมองว่าการคงรักษาไว้ซึ่ง ‘เอกภาพทางการเมือง’ เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่ราบรื่นและมั่นคงมากกว่าการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเชิงกระบวนการ นอกจากนั้นประเด็นการสร้างความ ‘เสมอภาคเท่าเทียม’ ระหว่างประชาชนด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็เป็นหนึ่งในวาระที่ คสช.ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยดำเนินการผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติและระบบราชการเป็นหลักซึ่งในทัศนะของ Jacque Rancière นักปรัชญาที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้นนั้น สิ่งที่ คสช.พยายามกระทำนั้นมีลักษณะของการกระจายคุณค่า เช่น ความเสมอภาคให้แก่ประชาชนเพียงฝ่ายเดียวโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิมีเสียงในการโต้แย้งหรือเลือกที่จะไม่รับสิ่งที่ชนชั้นปกครองหยิบยื่นให้ ความเสมอภาคที่มิได้เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชนในลักษณะเช่นนี้เองที่ Rancière เรียกว่าเป็น ‘ความเสมอภาคที่ได้รับมาจากรัฐ’ (passive equality) และเป็นสิ่งที่บั่นทอน-ทำลายความเป็นการเมือง (politics) ให้หมดสิ้นลงด้วยการตัดสิทธิเสียงที่หลากหลายของประชาชนออกไปเพื่อระงับความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

ทัศนะของ Rancière ดังกล่าวสร้างปรัศนีขึ้นในใจผู้เขียนเป็นอันมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับความเสมอภาคในงานเขียนของเขาจึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสำรวจความคิดทางการเมืองของ Rancière ผ่านงานเขียนชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อให้แก่เขาในระดับนานาชาติอย่าง ‘Dis-agreement: Politics and Philosophy’ ผ่านการตีความแบบ Exegetical interpretation เพื่อพยายามเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้เขียนและทำความเข้าใจสารที่เขาต้องการสื่อออกมาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะ ‘Unit Ideas’ สองประการ ได้แก่ ‘ความขัดแย้ง’ (disagreement) และ ‘ความเสมอภาค’ (equality) ที่ปรากฎอยู่ในงานเขียนชิ้นดังกล่าวของ Rancière ตลอดจนการถอดรื้อโครงสร้างของตัวบท (text) ออกจากบริบทแวดล้อม (context) ที่ส่งอิทธิพลต่อผู้เขียนเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับความเสมอภาคซึ่งในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การตอบคำถามว่าความขัดแย้ง (disagreement) ในทัศนะของ Jacque Rancière ส่งผลอย่างไรต่อการสร้างและจรรโลงความเสมอภาคในสังคม

ภูมิหลังทางวิชาการของ Jacque Rancière และบริบทแวดล้อม (context) ที่หล่อหลอมงานเขียนเรื่อง ‘Dis-agreement’

            Jacque Rancière นับได้ว่าเป็นหนึ่งในนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสหลายคนที่เติบโตทางวิชาการขึ้นมาภายใต้ร่มเงาของนักปรัชญารุ่นพี่ที่จัดว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการนักคิดฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นอย่าง Michel Foucault, Jean-François Lyotard, Gilles Deleuze และ Jacque Derrida ซึ่งล้วนถูกจัดให้อยู่ในสำนักคิดหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) และหลังสมัยใหม่ (post-modernism) ร่วมกันทั้งสิ้น นอกจากนั้นในบรรดานักคิดรุ่นราวคราวเดียวกัน Rancière ก็ถูกความโด่งดังของ Alain Badiou บดบังรัศมีทางวิชาการของเขาจนมิอาจเฉิดฉายได้มากเท่าที่ควรในยุคทศวรรษที่ 1960s-1980s อย่างไรก็ตามบรรดานักคิดชาวฝรั่งเศสระดับหัวแถวที่กล่าวมาข้างต้นรวมทั้งตัว Rancière เองต่างก็มีส่วนร่วมโดยตรงกับเหตุการณ์การลุกฮือของนักศึกษาและกรรมกรในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 หรือที่รู้จักกันในนาม ‘May’68’ ซึ่งปฏิเสธมิได้ว่าผลพวงจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้แผ่ขยายออกปกคลุมบริบททางความคิดทางการเมืองและสังคมฝรั่งเศสเป็นระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ ที่สำคัญคือความผิดหวังและห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่ตกค้างจากความล้มเหลวของ May’68 ที่สั่งสมมาตลอดการเก็บเกี่ยวหลักไมล์ทางวิชาการของ Rancière ก็กลายเป็นพลังผลักดันสำคัญที่ช่วยให้เขาสามารถขับเคลื่อนงาน ‘Dis-agreement’ ได้เป็นผลสำเร็จ 30 ปีหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

Rancière เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงปรัชญาฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในการนำเสนอผลงานในงานสัมมนาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทศวรรษที่ 1960s อย่าง ‘The Reading group on Marx’s Capital’  อันเป็นการตีความงาน ‘Das Kapital’ ของคาร์ล มาร์กซ์ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมวิชาการที่เป็นผลมาจากแนวคิด ‘political radicalism’ ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในฝรั่งเศสภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ควรกล่าวไว้ด้วยว่างานสัมมนาในครั้งนั้นจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย École Normale Supérieure โดยนักปรัชญาแนวมาร์กซิสม์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งอย่าง Louis Althusser ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นทั้งที่ปรึกษา (mentor) และผู้ร่วมงานของ Ranciere ในวัยหนุ่ม นอกจากนั้นทั้งคู่ยังร่วมกันตีพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญที่ได้รับการอ่านอย่างแพร่หลายในหมู่นักวิชาการผู้สมาทานลัทธิมาร์กซิสม์อย่าง ‘Reading Capital’ (1968) ซึ่งสร้างชื่อให้ Rancière ในฐานะผู้ร่วมเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว ความสัมพันธ์กับ Althusser ส่งอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของ Rancière ในวัยหนุ่มเป็นอย่างมาก เขาถึงกับกล่าวว่างานเขียนทางวิชาการของตนเองในช่วงเวลานั้นตั้งอยู่บนความมั่นใจในแนวคิดแบบ Althusserian ที่หันเข็มทิศทางวิชาการย้อนกลับไปศึกษาและตีความงานเขียนของมาร์กซ์ใหม่เพื่อค้นหาทฤษฎีและแนวคิดทางการเมืองอันปราดเปรื่องที่ยังมิได้ถูกค้นพบหรือมองข้ามไป

ด้วยเหตุนี้งานเขียนชิ้นแรกๆ ของ Rancière จึงมีความเกี่ยวข้องกับสัมพันธ์กับการอ่านและตีความงานของมาร์กซ์ใหม่ เช่น บทวิเคราะห์ในหนังสือ ‘Reading Capital’ ที่เขาเขียนร่วมกับ Althusser ในขณะที่มีอายุเพียงแค่ 25 ปี อย่างไรก็ตามความสนใจและจุดเน้นทางวิชาการของ Rancière ก็เปลี่ยนแปลงไปภายหลังเหตุการณ์ May’68  โดยเขาหักเหจากร่มเงาทางวิชาการของ Althusser ไปสู่เส้นทางเดียวกันกับ Michel Foucault ซึ่งให้ความสำคัญกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ (historical condition) ที่นำไปสู่ปรากฎการณ์ต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากความพยายามวิเคราะห์ความร่วมมือของนักศึกษาที่เป็นชนชั้นกลาง (bourgeois) กับกรรมกรในปารีสด้วยทฤษฎีมาร์กซิสม์ซึ่งเน้นความขัดแย้งทางชนชั้น (class struggle) มากกว่าปัจจัยใดอื่น ทว่า Rancière กลับเห็นต่างออกไปนักคิดสายมาร์กซิสม์และพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสที่วิจารณ์การลุกฮือของนักศึกษาในเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็นการประท้วงของชนชั้นกลางที่ขาดการจัดการอย่างเป็นระเบียบแบบแผน และไม่ให้ความสำคัญกับทฤษฎีมาร์กซิสม์เท่าที่ควร

ในทางตรงข้าม Rancière มองว่าการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ May’68 นั้นมิใช่การปฏิวัติตามแบบฉบับมาร์กซิสต์ (Marxist revolution) อย่างที่นักเคลื่อนไหวในครั้งนั้นเข้าใจ ทว่ามันกลับมีลักษณะของการเคลื่อนไหวโดยอิสระเพื่อมุ่งปรับโครงสร้างใหม่ (reconfiguration) ของระบบการเมืองที่ควบคุมว่าสิ่งใดปรากฏได้ (visible) สิ่งใดที่คิดได้ (thinkable) และสิ่งใดที่เป็นไปได้ (possible) มิใช่ผลลัพธ์ของปฏิบัติการณ์ที่มีทฤษฎีมาร์กซิสม์รองรับของบรรดาผู้นำทางสังคม (vanguard) เช่น นักคิด, นักทฤษฎีที่มีบทบาทควบคู่ไปกับพรรคคอมมิวนิสต์ ความไม่ลงรอยระหว่าง Rancière กับที่ปรึกษาของเขาอย่าง Althusser และนักคิดสายมาร์กซิสม์ดั้งเดิม (orthodox Marxist) ต่อประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การแยกทางของ Rancière ออกไปจากความคิดทางการเมืองกระแสหลักที่ครอบงำฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น ทว่าผลพวงจากเหตุการณ์ May’68 ยังคงปรากฎร่องรอยอยู่ในงานเขียนชิ้นต่อๆ มาของเขา เช่น  Althusser’s lesson อันเป็นงานที่ Rancière ตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์อาจารย์และที่ปรึกษาของเขาโดยตรงหลังจากทั้งคู่มีความเห็นที่ขัดแย้งกันต่อเหตุการณ์ May’68 โดย Rancière วิจารณ์บรรดานักคิดสายมาร์กซิสม์รวมทั้ง Althusser ว่าเป็นผู้ที่อยู่บน ‘หอคอยงาช้าง’ มัวแต่ครุ่นคิดอยู่กับทฤษฎีและหนังสือแทนที่จะกระโดดลงมาร่วมมือกับนักศึกษาและกรรมกรในการก้ามข้ามพรมแดนทางชนชั้นให้สำเร็จได้ในชีวิตจริงเหมือนที่คิด

นอกจากนั้น Rancière ยังปฏิเสธแนวคิดของ Althusser ที่มองว่าชนชั้นกรรมกรนั้นมีความสับสนมืดมนทางอุดมการณ์ความคิด (ideology obfuscation) อันเป็นม่านอำพรางมิให้พวกเขาสามารถมองเห็นสภาพความเป็นจริงได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ตลอดจนเชื่อฟังปัญญาชนของพรรคเพื่อที่จะตระหนักรู้ถึงสภาพที่เป็นจริงของตนเองและเรียนรู้วิธีการ-กิจกรรมทางการเมืองที่จะนำไปสู่การปลดปล่อยพวกเขาออกจากโซ่ตรวนทางชนชั้น  กระนั้นแม้ว่า Rancière จะไม่เห็นด้วยกับบทบาทนำของพรรคและนักทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่ดูแคลนการลุกฮือขึ้นอย่างเฉียบพลัน (spontaneous) ในเหตุการณ์ May’68 ว่าปราศจากคุณค่า ทว่า Rancière ก็ยังซื่อตรงต่อมาร์กซิสม์ในแนวคิดเรื่องการครอบงำทางสังคม (social domination) ผ่านการแบ่งงานกันทำ (division of labour) อันทำให้ชนชั้นกรรมกาชีพถูกกระทำให้เสียงและพฤติกรรมของพวกนั้นไร้ความหมาย ในขณะที่อีกชนชั้นมีเวลาว่าง (leisure) มากพอที่จะสามารถแสดงออกถึงความคิดที่มีคุณค่า (valuable thoughts) และเข้าร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรมซึ่ง Rancière มองว่าเอกสิทธิ์ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการครอบครองความรู้และตำแหน่งแห่งที่ทางอำนาจของกลุ่มบุคคลผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารทางการเมืองอันเป็นสิ่งที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกกีดกันมิให้เข้าถึงได้ มิใช่แต่โดยรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดานักวิชาการที่หวงแหนและผูกขาดความรู้ไว้กับตนเองอีกด้วย

ข้อพิพาทระหว่าง Rancière กับนักคิดฝรั่งเศสสายมาร์กซิสม์ดั้งเดิมยังคงดำเนินต่อไปภายหลังเหตุการณ์ May’68 สิ้นสุดลง ในขณะที่บรรดานักคิดหลายคนที่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้นต่างหันมาวิพากษ์วิจารณ์นักศึกษาที่เป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหวด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ นานา ทว่า Rancière กลับรักษาจุดยืนเดิมของเขาไว้อย่างหนักแน่น การสไตร์คของกรรมกรโรงงาน LIP ในปี 1973 เป็นอีกหนึ่งบริบทแวดล้อมสำคัญที่ตอกย้ำความคิดของ Rancière ว่าการลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพนั้นแม้มิอาจยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐ แต่การแสดงออกทางการเมืองของพวกเขานั้นก็ยังมีส่วนในการลดพลังของการครอบงำทางสังคม และสามารถสร้างรูปแบบใหม่ของการดำเนินชีวิตร่วมกันขึ้นมาได้ สิ่งที่ Rancière เห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดคือการเปิดโอกาสให้เสียงและการกระทำของชนชั้นใต้ปกครอง (dominated) ได้แสดงออกด้วยตัวของพวกเขาเองโดยปราศจากการชักนำหรือควบคุมทิศทางโดยปัญญาชนหรือพรรคการเมืองใดๆ อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อของ Rancière ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Joseph Jacotot นักปรัชญาการศึกษายุคหลังปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ที่มองว่ามนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันมิใช่แต่ในบริบททางกฎหมายหรือจริยธรรม หากแต่ยังหมายรวมถึงศักยภาพทางปัญญาในการเรียนรู้อีกด้วย

แรงบันดาลใจจากแนวคิดการปลดปล่อยทางปัญญา (intellectual emancipation) ของ Jacotot ทำให้ Rancière สามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการสมภาคนิยม (egalitarian movement) ในยุคหลัง May’68 ได้แตกต่างจากนักคิดสายมาร์กซิสต์ดั้งเดิมคนอื่นๆ โดย Rancière วิเคราะห์ว่าการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวในฝรั่งเศสกลางทศวรรษที่ 1970 นั้นมิได้มีสาเหตุมาจากสำนึกที่ผิดพลาด (false consciousness) และความเขลา (ignorance) ของชนชั้นกรรมาชีพดังที่มาร์กซิสต์อธิบายแต่อย่างใด ทว่าเกิดจากความไม่พอใจต่อโครงสร้างสังคมที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อทำให้เสียงและการกระทำของประชาชนที่เป็นคนชายขอบหรือที่ Rancière เรียกว่าคนที่อยู่บน ‘ชายฝั่งของการเมือง’ (on the shore of politics) นั้นมองไม่เห็น/หายไป (invisible) หรือ ไม่ได้ยิน (inaudible) จากสังคม อันเป็นผลมาจากการผูกขาดความรู้ของชนชั้นปกครองและกีดกันคนชายขอบออกไปจากการเข้าถึงมันนั่นเอง  

ความสัมพันธ์ข้ามยุคสมัยผ่านงานเขียนของ Jacotot ทำให้ Rancière สามารถรักษาแนวคิด ‘radical equality’ ในงานของเขาได้โดยมิต้องพึ่งพาทฤษฎีมาร์กซิสม์ซึ่งความเป็นอิสระทางวิชาการจากฉลาก ‘นักคิดฝ่ายซ้าย’ ทำให้เขาหันความสนใจมายังกลุ่มคนชายขอบที่ถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ในช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 1980s ถึงต้นทศวรรษ 1990s Rancière ได้พัฒนาแนวคิด ‘radical equality’ ของเขาควบคู่ไปกับการสร้างศัพท์ทางการเมืองใหม่ๆ เพื่ออธิบายการเคลื่อนไหวของคนชายขอบที่จุดประกายความคิดแก่เขานับตั้งแต่เหตุการณ์ May’68 เป็นต้นมา โดย Rancière ได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกการรับรู้ (partition of sensible) ที่เขาใช้อธิบายการก่อตัวของขบวนการ May’68 และ แนวคิด ‘intellectual emancipation’ ที่ได้รับอิทธิพลจาก Jacotot มาใช้ประยุกต์เข้ากับเงื่อนไขทางสังคมและบริบทแวดล้อมของสังคมฝรั่งเศสกระทั่งสำเร็จออกมาเป็นงานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาอย่าง ‘Dis-agreement: Politics and Philosophy’ อันเป็นงานที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของความคิดทางการเมืองของ Rancière จากนักวิชาการหนุ่มหัวซ้ายที่เป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์มาร์กซิสต์ Louise Althusser ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960s กระทั่งกลายเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Vincennes ที่หันหลังให้คาร์ล มาร์กซ์และนักคิดสายมาร์กซิสม์คนอื่นๆ แล้วเพ่งความสนใจไปที่แนวคิดประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (radical democracy) ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นทางวิชาการที่ช่วยผลักดันให้ Rancière เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับนานาชาติ อันจะกล่าวถึงต่อไป

นิยามความขัดแย้ง (disagreement) และความเสมอภาค (equality) ในทัศนะของ Rancière

            “Political activity is always a mode of expression that undoes the perceptible division of the police order by implementing a basically heterogeneous assumption, that of a part of those who have not part, an assumption that, at the end of the day, itself demonstrates the sheer contingency of the order, the equality of any speaking being with any other speaking being. Politics occurs when there is a place and a way for two heterogeneous processes to meet. The first is the police process in the sense we have tried to define. The second is the process of equality” (Rancière, 1998, p.30)

เมื่อพิจารณาข้อความที่ตัดตอนมาจากบทที่มีชื่อว่า ‘Wrong’ ของหนังสือ ‘Dis-agreement’ จะพบ Unit Idea สำคัญนั่นคือ ‘ความเสมอภาค’ (equality) ซึ่งเป็นหนึ่งในศัพท์ (term) ที่สะท้อนหัวใจหรือแก่นหลักในงานชิ้นนี้ของ Rancière ซึ่งผู้เขียนแปลออกมาได้ใจความดังนี้

“กิจกรรมทางการเมืองโดยปกตินั้นคือรูปแบบของการแสดงออกที่มุ่งทำลายการแบ่งแยกอันประจักษ์ชัดเจนของ ‘ระบบตำรวจ’ โดยการตั้งสมมติฐานที่แตกต่างหลากหลายของ ‘กลุ่มคนที่ไม่ถูกนับรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง’ ซึ่งสมมติฐานนั้นในท้ายที่สุดจะฉายให้เห็นความเป็นไปได้ของระบบที่จะเกิดความเสมอภาคระหว่าง ‘Speaking being’ คนหนึ่งกับ ‘Speaking being’ คนอื่นๆ การเมืองเกิดขึ้นเมื่อมีพื้นที่และหนทางสำหรับการเอื้อให้สองกระบวนการที่แตกต่างกันนั้นได้มาพบกัน ได้แก่ หนึ่ง-กระบวนการของตำรวจในความหมายที่เราต้องการนิยาม และสอง-คือกระบวนการของความเสมอภาค”

 จากข้อความดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ถึงศัพท์ที่ Rancière บัญญัติขึ้นมาใช้ในงานเขียนของของเขาอย่าง ‘ระบบตำรวจ’ (police order) ซึ่งมีนิยามความหมายแตกต่างจากความรับรู้เกี่ยวกับคำว่า ‘ตำรวจ’ (police) ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนอย่างที่เราเข้าใจทั่วไป ทว่า ‘ตำรวจ’ หรือ ‘La police’ ในต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสของ Dis-agreement นั้น Ranciere ใช้วลีในการอธิบายความหมายว่า ‘การประกอบสร้างเชิงสัญลักษณ์ของสังคม’ (symbolic constitution of the social) ซึ่งเป็นปฐมบทของการแบ่งแยกการรับรู้ (partition of sensible) ระหว่างผู้คนในสังคมออกจากกัน โดยในงานเขียนชิ้นสำคัญดังกล่าว Rancière ได้อรรถาธิบายความหมายของ ‘ระบบตำรวจ’ เพิ่มเติม ดังนี้

“(the police is) the arrangement of the social order, the allocation of places, roles, occupations. The police thereby ‘defines the allocation of ways of doing, ways of being, and way of saying’ and for this reason any police order determines who has part in society and who does not” (Rancière, p.29)

เมื่อพิจารณาข้อความข้างต้นจะพบว่า ‘ตำรวจ’ ในทัศนะของ Rancière มีนัยยะหมายถึง ‘การจัดการระเบียบสังคมผ่านการจัดสรรตำแหน่งแห่งที่, บทบาท, และหน้าที่การงานของผู้คน อันอาจกล่าวได้ว่า ‘ระบบตำรวจ’ คือการจัดสรรระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติตัว, วิถีชีวิต และกลวิธีในการสื่อสารซึ่ง Rancière มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามากำหนดว่า ‘ใคร’ เป็นผู้ที่ถูกนับให้เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ และ ‘ใคร’ เป็นผู้ที่ถูกกีดกันออกจากพื้นที่ทางการเมืองหรืออีกนัยหนึ่งคือ คนชายขอบหรือผู้ที่ถูกกีดกันให้อยู่แต่ในชายฝั่งของการเมือง (those who are on the shore of politics) ดังที่ Rancière ได้แสดงทัศนะไว้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความขัดแย้งระหว่าง ‘part that already counted as part’ และ ‘the part who don’t counted as part หรือ the part of no part’ อันเป็นศัพท์ (terms) หลักที่ Rancière ใช้อธิบายแนวความคิดของเขาในงานเรื่อง ‘Dis-agreement’ ชิ้นนี้ และความขัดแย้งดังกล่าวก็มีสาเหตุเนื่องมาจากการทำงานของ ‘ระบบตำรวจ’ ที่ทำหน้าที่จัดสรรบทบาท,  สถานภาพ ตลอดจนความสามารถในการสื่อสารของผู้คนดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น จึงอาจพิจารณาได้ว่าความขัดแย้งในทัศนะของ Rancière เกิดขึ้นภายในสังคมที่ถูกควบคุมด้วย ‘ระบบตำรวจ’ ที่เป็นต้นเหตุของความ ‘ไม่เสมอภาค’ ของผู้คนอันเป็นผลมาจากการจัดสรรอย่างไม่เท่าเทียมของระบบ หากพิจารณาบทบาทของ ‘ระบบตำรวจ’ ในแง่ของนิยามจะพบว่ามีความสอดคล้องกับ ‘ระบบการเมือง’ ในความรับรู้ของประชาชนทั่วไป อันหมายถึง ‘การจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าหรือทรัพยากร โดยมีอำนาจที่เป็นที่ยอมรับกันมาทำให้เกิดการปฏิบัติตามหรือเป็นเรื่องของการที่มีคนกลุ่มหนึ่งใช้อิทธิพลเหนือคนอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม สิ่งที่มีคุณค่าในที่นี้มีขอบเขตครอบคลุมถึง อำนาจ, บารมี, ความยุติธรรม ความมั่งคั่ง, ความรอบรู้, ทักษะ, เสรีภาพ รวมถึงความเสมอภาคเท่าเทียม’ (ชลธิศ ธีระฐิติ, 2551, น.278-280)

ดังนี้จึงอาจตีความได้ว่า ‘ระบบตำรวจ’ (police order) ของ Rancière มีความหมายและลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับระบบการเมืองในความเข้าใจของคนทั่วไปที่แสดงจินตภาพเกี่ยวกับการทำงานของสถาบันการเมือง, การต่อสู้ของกลุ่มผลประโยชน์ และกลไกทางการเมืองต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ถึงกระนั้นระบบตำรวจในความหมายของ Rancière กลับมีลักษณะเป็นนามธรรมมากกว่าและแยกขาดออกจาก ‘ความเป็นการเมือง’ อย่างชัดเจน เนื่องเพราะสำหรับเขา ‘การเมือง’ (politics) นั้นเป็นเอกเทศออกจากระบบการเมืองในความรับรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสถาบันและกลไกต่างๆ อย่างสิ้นเชิง ในทางตรงข้าม ‘ความเป็นการเมือง’ (politics) สำหรับ Rancière เป็นผลลัพธ์ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานที่ผิดพลาด (wrong) ของ’ระบบตำรวจ’ ซึ่งผู้เขียนตีความว่าคือศัพท์ที่นักปรัชญาการเมืองผู้นี้คิดค้นขึ้นมาเพื่อแยกการเมืองในความรับรู้ของเราออกจาก ‘การเมืองของสุนทรียศาสตร์’ ในความคิดของเขานั่นเอง การแยก ‘Politics’ ออกจาก ‘Police order’ อันเป็นสาระสำคัญในงานเขียน ‘Dis-agreement’ ที่ Rancière เน้นย้ำหลายครั้งแสดงให้เห็นถึงความคิดทางการเมืองของเขาเกี่ยวกับ ‘ความเป็นการเมือง’ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์ May’68 ในช่วงวางหลักไมล์แรกทางวิชาการภายใต้การดูแลของ Althusser

โดยในขณะนั้น Rancière ให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับการลุกฮือของนักศึกษาและกรรมกรในกรุงปารีสเพื่อต่อต้านการขยายตัวของทุนนิยมซึ่งในภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการสายมาร์กซิสม์เข้มข้นรวมทั้ง Louise Althusser ทว่า Rancière กลับมองในมุมต่างจากอาจารย์และที่ปรึกษาของตนเอง โดยเขาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ดังกล่าวในฐานะของ ‘ความขัดแย้ง’ หรือการแสดงออกถึง ‘ความไม่เห็นด้วย’ (disagreement) ต่อโครงสร้างการเมืองและสังคมที่ทำให้เสียงของนักศึกษาและกรรมกรถูกทำให้เงียบลงและกลายเป็น ‘ส่วนที่ถูกกีดกัน’ (the part of no part) จากการมีส่วนร่วมทางการเมือง กระนั้นแม้ว่าการแสดงออกถึง ‘ความเห็นแย้ง’ ต่อระบบ Charles De Gaulle ซึ่งผู้เขียนตีความว่าเป็นต้นแบบของระบบตำรวจ (police order) ของ Rancière ในกาลต่อมานั้นจะไม่ประสบความสำเร็จสมดังความคาดหวังของพรรคคอมมิวนิสต์และนักคิดในสำนักมาร์กซิสม์ดั้งเดิมที่ยึดมั่นในอำนาจนำของพรรค-ปัญญาชนเป็นสดมภ์หลัก

ทว่าในทรรศนะของ Rancière การท้าทายของนักศึกษา-กรรมกรในเหตุการณ์ May’68 ได้สร้างรูปแบบใหม่ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นมา โดยมิได้มีเป้าหมายในการโค่นล้มรัฐเพื่อปรับโครงสร้างของสังคมอย่างถอนรากถอนโคนอีกต่อไป ทว่ากลับเป็นการทำให้ ‘เสียง’ ที่ถูกละเลยหรือถูกทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้นั้นดังกังวานหรือปรากฏชัดแจ้งขึ้นมาผ่านการแสดงความ ‘ไม่เห็นด้วย’ หรือไม่สยบยอมต่อระบบตำรวจอันเป็นการสร้าง ‘ความขัดแย้ง’ ระหว่างส่วนที่ถูกกำหนดให้มีส่วนทางการเมือง (part that already counted as part) และส่วนที่ถูกกีดกันมิให้ถูกรวมเป็นส่วนทางการเมือง (part of no part) ซึ่งในท้ายที่สุดผลลัพธ์ของความขัดแย้งดังกล่าวก็จะนำไปสู่การจรรโลงความเสมอภาค (equality) ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในสังคม

‘ความเสมอภาค’ (equality) ในงานเขียน ‘Dis-agreement’ นั้นมีขอบเขตความหมายเฉพาะความเสมอภาคทางการเมือง (political equality) ซึ่งถูกกำหนดโดยระบบตำรวจ (police order) อย่างผิดพลาด (wrong) อันนำไปสู่การแบ่งแยกความรับรู้ (partition of sensible) ที่ทำให้คนในสังคมมี ‘ส่วน’ ทางการเมืองไม่เท่าเทียมกัน สำหรับ Rancière ความเสมอภาคเชิงรุก (active equality) เท่านั้นที่เป็นสารัตถะของการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทว่าความเสมอภาคในสังคมที่ถูกครอบงำด้วยระบบตำรวจนั้นมักจะเป็นสิ่งที่ได้รับมามากกว่าจะเป็นการสร้างขึ้นด้วยตนเอง (equality is received than created) หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความเสมอภาคเชิงรับ (passive equality) ซึ่งสำหรับ Rancière ความเสมอภาคที่เป็นผลลัพธ์ของความไม่เห็นด้วยหรือความขัดแย้งของส่วนที่ถูกกีดกัน (the part of no part) นั้นจะต้องเป็นความเสมอภาคที่ประชาชนเป็นผู้สร้างขึ้นเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นความเสมอภาคเชิงรุกนั่นเอง

“Equality is not given that politics then presses into service, an essence embodied in the law or a goal politics sets itself the task of attaining. It is mere assumption that needs to be discerned within the practices implementing it.” (Rancière, p.33)

ความเสมอภาคนั้นมิใช่สิ่งที่ถูกการเมืองบีบอัดให้กลายเป็นบริการสาธารณะหรือสาระสำคัญที่ถูกแฝงไว้ในกฎหมายหรือเป้าหมายทางการเมืองที่ถูกกำหนดไว้ว่าประชาชนจะต้องได้รับ ทว่ามันคือสมมติฐานที่เกิดขึ้นจากการกระทำอันเสมอภาคนั้น จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สำหรับ Rancière ความเสมอภาคคือสิ่งที่อุบัติขึ้นจากการกระทำร่วมกันภายใต้สมมติฐานว่าการกระทำดังกล่าวคือการแสดงออกของความเสมอภาคเท่าเทียมในตัวมันเอง ด้วยเหตุนี้ตรรกะของความไม่เห็นด้วยจะนำไปสู่ความเสมอภาคได้ก็ด้วยความตระหนักรู้ในความเสมอภาคของตนเอง อันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับการจัดสรรบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของระบบตำรวจ (presume the equality of speaking bodies, which contradicts the police distribution of places and roles (Rancière, p 33)) นอกจากนั้น Ranciere ยังมองว่าระบบตำรวจ (police order) และความเป็นการเมือง (politics) ในทัศนะของเขานั้นเป็นคู่ปฏิปักษ์ทวิลักษณ์ (binary opposition) ที่มิอาจแยกขาดออกจากกันได้

“For politics to occur, there must be a meeting point between police logic and egalitarian logic” (Rancière, p.34)

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ความเป็นการเมืองสำหรับ Rancière หมายถึงการปะทะกันระหว่างตรรกะของตำรวจและตรรกะของความเสมอภาคอันเกิดขึ้นจากการกระทำในนามของความเสมอภาคที่ขัดต่อระบบแบ่งแยกการรับรู้ที่ระบบตำรวจได้จัดสรรไว้ในโครงสร้างสังคม ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงตีความ ‘ความเสมอภาค’ ซึ่งเป็น Unit-idea สำคัญในงาน ‘Dis-agreement’ ชิ้นนี้ว่าเป็นความเสมอภาคเชิงรุก (active equality) อันเกิดจากการกระทำทางการเมืองบนพื้นฐานของความตระหนักรับรู้ถึงความเสมอภาคของตนเอง เช่น การประท้วงด้วยรูปแบบ Sit-in ของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 1960s ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเท่าเทียมระหว่างคนผิวขาว-ผิวสีผ่านการกระทำอันเสมอภาคโดยการเข้าไปนั่งที่บาร์อันสงวนไว้สำหรับคนผิวขาว การกระทำในเชิงอารยะชัดขืน (civil disobedience) นี่เองที่ผู้เขียนมองว่าอยู่ในกรอบของการกระทำอันเป็นการสร้างความเสมอภาคเชิงรุกในทรรศนะของ Rancière เยี่ยงเดียวกับการลุกฮือของนักศึกษาและกรรมกรในเหตุการณ์ May’68 ที่มีส่วนสำคัญในการปลูกหน่อความคิด (nucleus) เรื่องความสัมพันธ์ของความขัดแย้งระหว่างตรรกะของระบบตำรวจกับตรรกะของความเสมอภาค หรืออีกนัยหนึ่งคือตรรกะของการไม่เห็นด้วย (disagreement) ที่พัฒนามาเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญชิ้นนี้ของ Rancière ในเวลาต่อมา  

ขณะเดียวกัน ‘ความขัดแย้ง’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Unit-Idea สำคัญที่ผู้เขียนให้ความสนใจก็มีความหมายจำกัดอยู่ภายในขอบเขตของการปะทะกันของระบบตำรวจ (police order) และส่วนที่ถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือคนชายขอบ/ชายฝั่งของการเมือง (the part of no part) อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมทางการเมืองของฝ่ายหลังซึ่งในทัศนะของ Rancière คือรูปแบบของการเมืองประชาธิปไตย (democratic politics) ที่แท้จริงและเป็นการสร้างความเป็นการเมือง (politics) ที่แยกขาดออกจากการ ‘Policing’ ผ่านกลไกทางการเมืองและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ อันเป็นมายาคติที่ระบบตำรวจ (police order) สถาปนาขึ้นเพื่อแบ่งแยกการรับรู้ของคนในสังคมออกจากกันระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นใต้ปกครอง

ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับความเสมอภาคทางการเมืองในงาน  Dis-agreement

            “We should take disagreement to mean a determined kind of speech situation: one in which one of the interlocutors at once understands and does not understand what the other saying” (Rancière, p. X)

“An extreme form of disagreement is where X cannot see the common object Y is presenting because X cannot comprehend that the sounds uttered by Y form words and chains of words similar to X’s own. This extreme situation – first and foremost-concerns politics” (Rancière, p. Xii)

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ถึงร่อยรอยของอิทธิพลทางความคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาที่ Rancière ได้รับมาจาก Joseph Jacotot อาจารย์ข้ามยุคสมัยของเขา รวมถึงแนวคิดเรื่องความสามารถในการใช้ภาษาและเหตุผลของมนุษย์ (possession of logos) จากหนังสือ ‘Politics’ ของ Aristotle ที่ Rancière ใช้ในการแบ่งชนชั้นของคนในสังคมออกจากกัน นั่นคือกลุ่มคนที่มีส่วน (part) ในโครงสร้างสังคม -การเมืองปกติที่เขาเรียกว่า ‘Police’  กับคนชายขอบที่ไม่มีส่วนทางการเมือง (the part of no part) ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ระยะห่างกว่า 30 ปี ระหว่างจุดเริ่มต้นในชีวิตทางปรัชญาของ Rancière ในฐานะนักวิชาการสายมาร์กซิสม์กับช่วงเวลาที่เขาเขียนหนังสือ ‘Dis-agreement’ มีความยาวนานเพียงพอที่จะทำให้เราเห็นพัฒนาการทางความคิดทางการเมืองที่ค่อยๆ เลื่อนจากมาร์กซิสม์มายังสายประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (radical democracy) ของนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสผู้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานในระยะหลังจากที่เขาแยกทางจาก Louise Althusser และเริ่มก้าวออกจากร่มเงาและอิทธิพลทางวิชาการของอดีตอาจารย์-ที่ปรึกษาของเขา Rancière ได้หันหลังให้กับนักปรัชญาร่วมสมัยของเขาแล้วเดินทางย้อนเวลากลับไปศึกษางานของนักปรัชญาการศึกษาร่วมชาติอย่าง Joseph Jacotot รวมถึงปรัชญากรีกโบราณของ Plato และ Aristotle อย่างลึกซึ้ง กระทั่งสามารถวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาเมธีเหล่านั้นได้อย่างถึงพริกถึงขิงในหนังสือเล่มนี้ของเขา อย่างไรก็ตามสาระสำคัญ (essence) ที่ผู้เขียนตีความว่า Rancière ได้รับอิทธิพลจากการศึกษางานของ Jacotot และ Aristotle คือ การใช้แนวคิดความสามารถในการสื่อสารทางการเมืองซึ่งอาจหมายรวมถึงการใช้ตรรกะ-เหตุผลประกอบการสร้างข้อถกเถียง (argument) ของตนเองในการอธิบายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ดังข้อความข้างต้นที่ผู้เขียนยกมาจากตอนหนึ่งในหนังสือ ‘Dis-agreement’ ซึ่ง Rancière ได้อธิบายการทำงานของตรรกะของการไม่เห็นด้วย ไว้ดังนี้ “ความขัดแย้งคือรูปแบบที่เข้มข้นของสถานการณ์การสื่อสารหนึ่งซึ่งคู่สนทนาสามารถเข้าใจและไม่เข้าสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อสาร ความขัดแย้งสูงเกิดขึ้นเมื่อ X ไม่สามารถมองเห็นหรือเข้าใจสิ่งธรรมดาสามัญที่ Y ต้องการนำเสนอ เพราะ X ไม่เข้าใจภาษาหรือเสียงที่ Y เปล่งออกมาเนื่องเพราะมันแตกต่างจากภาษาหรือเสียงที่ X ใช้อยู่ตามปกติ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘การเมือง’”

จากตัวแปร X และ Y ข้างต้น ผู้เขียนสามารถตีความได้ว่า X คือตัวแทนของชนชั้นปกครองที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบตำรวจ (police order) หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มี ‘ส่วน’ ทางการเมืองผ่านการจัดสรรบทบาทและตำแหน่งทางสังคมโดยระบบตำรวจที่ Rancière ขนานนาม ‘การแบ่งแยกการรับรู้’ (partition of sensible) ในขณะที่ Y คือตัวแทนของกลุ่มคนชายขอบทางการเมืองที่ถูกจัดสรรอย่างผิดพลาด (wrong) ให้ไม่มีส่วนทางการเมือง (the part of no part) ผ่านการกีดกันให้พ้นไปจากการเรียนรู้ความสามารถในการสื่อสารทางการเมืองอันเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งชนชั้นทางสังคมในงานเรื่อง ‘Politics’ ของ Plato ที่แยกนายทาสและทาสออกจากกันด้วยการถือครอง ‘Logos’ หรือความสามารถในการใช้ภาษาและเหตุผลซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทว่าในงาน ‘Dis-agreement’ Rancière กลับเสนอว่า ‘the part of no part’ นั้นมิได้เกิดมาเพื่อถูกปกครองแต่อย่างใด เนื่องเพราะเขาเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในการใช้ภาษาและเหตุผลอย่างเท่าเทียมกัน นั่นหมายถึงทุกคน-ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาวหรือยากดีมีจนล้วนแล้วแต่เป็น ‘ส่วน’ ทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าการจัดสรรบทบาทและตำแหน่งทางสังคมที่ผิดพลาด (wrong) ของระบบตำรวจทำให้เกิดการแบ่งแยกการรับรู้ที่แบ่งชนชั้นทางสังคมออกจากกันโดยใช้ความสามารถในการสื่อสารทางการเมือง (capacity of speech) เป็นเกณฑ์ในการจัดสรรว่า ‘ใคร’ ควรมีส่วนหรือไม่มีส่วนทางการเมือง หรือ ‘ใคร’ ควรเป็นผู้ปกครองหรือผู้ที่ถูกปกครอง อิทธิพลที่ Rancière ได้รับมาจากแนวคิดเรื่อง ‘intellectual emancipation’ ของ Jacotot มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความขัดแย้ง’ และ ‘ความเสมอภาค’ ในงานเรื่อง ‘Dis-agreement’ ของเขาซึ่งในท้ายที่สุดได้นำไปสู่การสร้าง ‘การเมืองของสุนทรียศาสตร์’ (politics of aesthetics) ผ่านกวีนิพนธ์ของความรู้ (poetics of knowledge) อันเกิดจากการปะทะกันระหว่างตรรกะของตำรวจ (police logic) และตรรกะของความเสมอภาค (egalitarian logic) ซึ่งอุบัติขึ้นควบคู่กับการปฏิบัติการณ์/การกระทำภายใต้ความตระหนักรู้ถึงความเสมอภาคในตัวเองของกลุ่มคนชายขอบทางการเมือง (the part of no part)

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Rancière ความเป็นการเมือง (politics) ในฐานะภาพแทนของความเสมอภาคเชิงรุก (active equality) นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้มีความขัดแย้ง/ความไม่เห็นด้วย (disagreement) อุบัติขึ้นในสังคมเท่านั้น และความขัดแย้งดังกล่าวก็หมายถึงความไม่สามารถในการเข้าใจกันและกันระหว่างคนที่มีส่วนทางการเมืองอยู่แล้ว (the part that already counted as part) และกลุ่มคนชายขอบที่ถูกจัดสรรให้ไม่มีส่วนทางการเมือง (the part of no part) อันสืบเนื่องมาจากความสามารถในการสื่อสารทางการเมือง (capacity of speech) ที่แตกต่างกันซึ่งผู้เขียนตีความว่า Rancière ต้องการหมายถึงความสามารถในการใช้เหตุผล, น้ำหนักทางสังคม ตลอดจนความรู้ทางการเมืองในการสร้างข้อถกเถียง (argument) ของตนเองอันเป็นคุณสมบัติสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอันเป็นสิ่งที่ Rancière มองว่าถูกจัดสรรไปให้ส่วนต่างๆ ในสังคมอย่างไม่เท่าเทียมกันผ่านทางโครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำก็ดีหรือระบบการศึกษาที่ตอกย้ำระบบการแบ่งแยกการรับรู้ก็ดี ดังนั้นเมื่อ X ไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ Y เรียกร้องเนื่องจากเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักเหตุผลหรือทัศนคติของ X เช่น กรณีคนเสื้อแดงเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจว่าคนเสื้อแดงต้องการเงินที่ได้จากการซื้อเสียง ผนวกเข้ากับความรับรู้ที่มีต่อคนเสื้อแดงว่าพวกเขาไม่มีการศึกษา ชักจูงได้ง่าย เห็นแก่เงิน เป็นเบี้ยให้นักการเมืองจึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามคนเสื้อแดงไม่สามารถเข้าใจข้อเรียกร้องของพวกเขาได้เลยแม้แต่น้อย เสียงที่กลุ่มคนที่ถูกจัดวางอยู่บนชายขอบของการเมือง (on the shore of politics) ซึ่งผู้เขียนตีความว่าคนเสื้อแดงที่เป็นคนชนบทส่วนใหญ่ก็เข้าข่ายนี้จึงกลายเป็นเพียงแค่เสียงกรีดร้องด้วยความพอใจและเจ็บปวด (screaming of pleasure and pain) ไม่ต่างจากสัตว์ดังที่ Aristotle ได้อธิบายไว้ในงานเรื่อง ‘Politics’ ของเขา ความขัดแย้งที่เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด (lost in translation) นี่เองที่ Rancière มองว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นให้กลุ่มคนชายขอบ (the part of no part) ต้องทำให้เสียงของตนเองดังขึ้นมาด้วยการพัฒนาระบบการสื่อสารทางการเมืองของตนเองขึ้นมาโดยเฉพาะ มิใช่การเรียนรู้เพื่อที่จะสามารถสื่อสารได้อย่างชนชั้นปกครองหรือกลุ่มคนที่มีส่วนทางการเมืองอยู่แล้วอันเป็นการสยบยอมต่อการ ‘policing’ ของระบบตำรวจ และสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการดังกล่าวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้คือการตระหนักรู้ถึง ‘ความเสมอภาคเท่าเทียม’ทางการเมืองของตนเองอันเป็นจุดเริ่มต้นของการจรรโลงความเสมอภาคเชิงรุก (active equality) ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของความเป็นการเมือง (politics)

ในทัศนะของ Rancière การตระหนักรู้ในความเสมอภาคนำไปสู่การกระทำในนามของความเสมอภาคซึ่งสำหรับ Rancière คือความเสมอภาคที่เกิดขึ้นในตัวของมันเอง เป็นความเสมอภาคที่แท้จริงอันมิใช่สิ่งที่ได้รับมา (passive equality) จากกระบวนการ ‘policing’ ของระบบตำรวจ ความเสมอภาคทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้เป็นผลลัพธ์ของความขัดแย้ง (disagreement) จากความล้มเหลวทางการสื่อสารระหว่าง ‘The Part that already counted as part’ หรือชนชั้นปกครอง และ ‘The Part of no part’ หรือชนชั้นที่ถูกปกครองซึ่งในท้ายที่สุด Rancière ซึ่งในพัฒนาความคิดทางการเมืองจากสายมาร์กซิสม์มาสู่แนวคิดประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (radical democracy) และได้ก้าวมาสู่ปริมณฑลทางสุนทรียศาสตร์ (aesthetics) ในปัจจุบันมองว่าเมื่อตรรกะของความเสมอภาค (egalitarian logic) ปะทะเข้ากับตรรกะของตำรวจ (police logic) อันเปิดทางไปสู่การสร้างความเสมอภาคเชิงรุก (active equality) หรือความเป็นการเมือง (politics) ในฐานะขั้วตรงข้ามของระบบตำรวจ (police order) เมื่อนั้นเองที่ประชาชนที่ถูกจัดวางอยู่บนชายฝั่งของการเมืองจะสามารถพัฒนาความสามารถในการสื่อสารทางการเมืองของตนเองขึ้นมาโดยเฉพาะซึ่งเขาเรียกว่า ‘กวีนิพนธ์ของความรู้’ (poetics of knowledge) ซึ่งในท้ายที่สุดจะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการต่อกรกับระบบตำรวจและเป็นเครื่องมือในการสลายระบบการแบ่งแยกการรับรู้ในสังคมอันนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางการเมืองและสังคมตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบเข้มข้นซึ่งเป็นสำนักคิดที่ Rancière ได้รับการยอมรับจากวงการวิชาการนานาชาติในปัจจุบันมากที่สุด

ดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง Unit-idea ที่สำคัญที่สุดในงานเรื่อง ‘Dis-agreement’ ของ Rancière ได้แก่ ความขัดแย้ง (disagreement) และความเสมอภาค (equality) มีลักษณะเป็นผลสืบเนื่องกัน (cause-effect) โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกันและกันของกลุ่มคนที่มีส่วนและไม่มีส่วนทางการเมืองเป็นผลให้เกิดความเสมอภาคในเชิงรุก (active equality) ซึ่งเป็นนิยามของความเป็นการเมือง (politics) ในความหมายของ Rancière โดยแยกออกจากระบบตำรวจ (police order) อันเป็นนิยามของ ‘การเมือง’ ในความรับรู้ปกติของเราซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงระบบการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม, การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ผ่านกลไกและสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในขณะที่ความเป็นการเมืองของ Rancière คือการกระทำหรือการปฏิบัติการณ์ภายใต้การตระหนักรู้ถึงความเสมอภาคของตนเอง ดังนั้นความเสมอภาคทางการเมืองในทัศนะของ Rancière จึงมิใช่จุดหมายหากแต่คือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติ เช่น การประท้วงแบบ Sit-in ของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกาซึ่งกระทำภายใต้ความเชื่อว่าพวกเขาเท่าเทียมกับคนผิวขาวซึ่งต่างจากการเดินขบวนการเพื่อเรียกร้องนโยบายกระจายความเสมอภาคจากรัฐ เยี่ยงเดียวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการปกครองผ่านการเลือกตั้งซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเกิดขึ้นจากความตระหนักรู้ถึงความเสมอภาคทางการเมืองของตนเองกับชนชั้นสูง-ชนชั้นกลางในเมืองอันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงในบริบททางสังคมระหว่างการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยซึ่งทำให้คนชนบทมีความรู้สึกว่าตนมี ‘ส่วน’ ทางการเมืองมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วชนชั้นสูง-ชนชั้นกลางจะยังผูกขาดตำแหน่งแห่งที่รอบศูนย์กลางทางการเมือง แต่บทบาทของคนชนบทหรือชนชั้นกลางใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นก็นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพวกเขากับชนชั้นปกครองซึ่งถูกกล่อมเกลาโดยระบบแบ่งแยกการรับรู้ว่าคนชนบทนั้น ‘โง่-จน-เจ็บ’ ตกเป็นทาสเงินตราและเบี้ยให้แก่นักการเมือง ในขณะที่ชนชั้นกลางใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปต้องการมีส่วนทางการเมืองและคิดว่าพวกเขามีความ ‘เสมอภาคทางการเมือง’ กับชนชั้นปกครองผ่านกลไกของระบอบประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้งซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดของ Rancière ได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ปะทุขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความไม่เห็นด้วย (disagreement) ของชนชั้นกลางใหม่ที่มีต่อชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางนั่นเอง

สรุป

ถึงแม้ว่า Rancière จะหันหลังให้กับเส้นทางสายมาร์กซิสม์ภายหลังวิวาทะเรื่องเหตุการณ์ May’68 กับอาจารย์และที่ปรึกษาของเขาอย่าง Louise Althusser ทว่าอิทธิพลของมาร์กซิสม์ก็ยังปรากฏอยู่ในงานหลายชิ้นของเขา รวมถึง ‘Dis-agreement’ ชิ้นนี้ที่ Rancière วิเคราะห์การแบ่งแยกชนชั้นในสังคมผ่านความสามารถในการใช้ภาษาและเหตุผล (possession of logos) หรืออีกนัยหนึ่งถือความสามารถในการสื่อสารทางการเมืองผ่านการสร้างข้อถกเถียงที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นมา แทนการแบ่งแยกชนชั้นโดยใช้การครอบครอบปัจจัยการผลิตเป็นเกณฑ์ตามสำนักมาร์กซิสม์ นอกจากนั้นงานชิ้นนี้ของ Rancière ยังสะท้อนอิทธิพลของเหตุการณ์ May’68 ตลอดจนงานของ Joseph Jacotot และปรัชญาเมธีกรีกโบราณคนอื่นๆ ที่เขาใช้เวลากว่า 30 ปีศึกษาอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดการแบ่งแยกระบบตำรวจ (police order) และความเป็นการเมือง (politics) ออกจากกันเพื่อชี้ให้เห็นว่า ‘ความขัดแย้ง’ ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นมิได้มีเป้าหมายมุ่งล้มล้างโครงสร้างสังคม-การเมืองเพื่อสร้างระบบสังคมนิยมตามแนวทางของมาร์กซิสม์เสมอไป หากแต่เป็นการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมทางการเมืองในเชิงรุกด้วยการทำให้เสียงที่ถูกกดทับของตนเองนั้นได้ยินหรือปรากฎชัดแจ้งขึ้นมา

แนวคิดดังกล่าวผู้เขียนมองว่าเป็นความพยายามของ Rancière ตลอดหลายปีในการอธิบายเหตุการณ์ May’68 โดยพ้นไปจากกรอบของมาร์กซิสม์ซึ่งเป็นฝ่ายวิพากษ์นักศึกษาและกรรมกรในครั้งนั้นอย่างเสียหายเมื่อผลลัพธ์ออกมาล้มเหลว อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990s Rancière เริ่มหันมาให้ความสนใจกับสุนทรียศาสตร์ในงานศิลปะและวรรณกรรมมากยิ่งขึ้น ผลงานของเขาหลายชิ้น เช่น The Names of History: On the Poetics of Knowledge (1994), The Politics of Aesthetics: The Distribution of the Sensible (2004), Dissensus: On Politics and Aesthetics (2010), The Politics of Literature (2011) และ Mute Speech: Literature, Critical Theory, and Politics (2011) ล้วนเป็นหลักฐานของการก้าวไปสู่ปริมณฑลทางสุนทรียศาสตร์อย่างเต็มตัวของ Rancière งานเรื่อง ‘Dis-agreement’ ชิ้นนี้ของปรากฏรูปรอยของ ‘การเมืองของสุนทรียศาสตร์’ อยู่ด้วยดุจกัน ดังที่เขาสำทับไว้ว่า ความเป็นการเมือง (politics)  ของเขานั้นมีลักษณะเป็น  Metapolitics มิได้แตกต่างไปจากงานเขียนของนักคิดที่เขาอ้างอิงตลอดทั้งเล่มอย่าง  The Republic  ของ Plato และ Politics ของ Aristotle อันมีแนวโน้มประสบปัญหาในทางปฏิบัติซึ่งสอดคล้องกับความคิดของผู้เขียนที่มองว่างานเขียนชิ้นนี้ของ Rancière มีลักษณะเป็นนามธรรมสูงและขาดพลังในการอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองอย่างเป็นสากล อันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนยอมรับได้ เพราะงานเขียนชิ้นนี้ สำหรับผู้เขียนตีความว่าเป็นความพยายามในการอธิบายเหตุการณ์ May’68 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้ายุคเทคโนโลยีการสื่อสารสำคัญอย่างอินเตอร์เน็ตที่ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่าง The part that already counted as part และ the part of no part นั้นขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น แม้ว่าในทางปฏิบัติ การใช้ภาษา, เหตุผลประกอบข้อถกเถียงระหว่างคนทั้งสองประเภทจะทำให้เกิดการไม่เห็นด้วย (disagreement) ดังที่ Rancière ได้อธิบายไว้ก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับผู้เขียน ‘Dis-agreement’ ซึ่งเป็นงานที่เป็นหมุดหมายสำคัญซึ่งทำให้ Rancière เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากลชิ้นนี้ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างกรอบแนวคิดหรือ ‘กวีนิพนธ์ของความรู้’ ที่สั่งสมมานานกว่า 30 ปีของ Rancière ในการหักล้างแนวทางการวิเคราะห์ของสำนักมาร์กซิสม์ดั้งเดิมที่เขาหันหลังให้แล้วก้าวเดินจากมาอย่างเดียวดายตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา

เอกสารอ้างอิง

Lovejoy, Arthur. (2001). The Great Chain of Being: A Study of the History of an idea. Harvard University Press. London

Phillipe-Deranty, Jean. (2010). Introduction: A Journey in equality. In Jacque Ranciere: Key Concepts. Acumen. Durham

Rancière, Jacque.  (1998). Dis-agreement: Politics and Philosophy. University of Minnesota Press. Minneapolis.

Rancière, Jacque. (2011).Thinking of Dissensus: Politics and Aesthetics.  In Paul Bowman and Richard Stamp (eds.), Reading Ranciere, Continuum, New York, 2011, pp. 1-17.